ธรรมชาติ กลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ th.naturalsites2018@gmail.com 13-06-2022 13:38:36 ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา ธรรมชาติ ป่าไม้ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม 3 ความคิดเห็น 3 ผู้ติดตาม

ภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติจังหวัดอุทัยธานี

ลักษณะทางกายภาพโดยรวมของจังหวัดอุทัยธานีนั้นมีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาสูง และพื้นที่ลาดชัน ที่ปกคลุมด้วยป่าชนิดต่าง ๆ ทางทิศตะวันออกของจังหวัดอุทัยธานีเป็นพื้นที่ราบลุ่มผืนเล็กซึ่งมีความสัมพันธ์ กับแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง  มีภูมิอากาศแบบกึ่งร้อนชื้นไปจนถึงอากาศแบบร้อนชื้น ทั้งนี้ ในบริเวณป่าและภูเขาทางทิศตะวันตกมีฝนตกชุก ในขณะที่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำทางด้านทิศตะวันออกมีอากาศร้อน และแห้งแล้ง มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 28 องศาเซลเซียส พื้นที่ทางทิศตะวันตกมีลักษณะเป็นป่าดิบเขา มีภูมิประเทศแบบภูเขาหินปูนเชื่อมต่อกับแนวทิวเขาตะนาวศรีทางตอนเหนือ และแนวทิวเขาถนนธงชัยตะวันตก และเอียงลาดลงมาทางตะวันออกลงสู่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-สะแกกรัง

ผืนป่าทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี  ยังเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อันเป็นผืนป่าตะวันตกผืนใหญ่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และต่อเนื่องกับผืนป่าในเขตประเทศเมียนมา ทำให้เป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของสัตว์ป่าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ด้วยคุณค่าและความสำคัญ องค์การยูเนสโก (UNESCO) จึงยกย่อง ให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปีพ.ศ. 25342 ตามเกณฑ์คุณสมบัติของคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ในเกณฑ์ข้อที่ 7 9 และ 103

อุทัยธานียังมีความโดดเด่นของภูมิลักษณ์ทางธรรมชาติ และระบบนิเวศ โดยเฉพาะภูมิลักษณ์ภูเขาหินปูนซึ่งเรียกว่า “ภูมิลักษณ์แบบ คาสต์ (Karst)” ที่เกิดจากน้ำฝนได้ทำปฏิกิริยาเคมีกลายเป็นกรดคาร์บอนิก เมื่อไหลผ่านหินปูนจึงทำปฏิกิริยากับแร่แคลไซต์ หรือแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3 ) และละลายออกมากลายเป็นโพรงถ้ำ หลุมยุบ และหินงอก หินย้อย ทำให้ภูมิลักษณ์ภูเขาหินปูนจึงเต็มไปด้วยหลุมยุบ โพรงถ้ำ และทางน้ำใต้ดิน

ซึ่งภูมิลักษณ์ทางธรรมชาติของ “หุบป่าตาด” เกิดจากการยุบตัวของ ภูเขาหินปูนกลายเป็นหุบลึกโอบล้อมด้วยผาหินปูนที่สูงชัน ทำให้ในหุบมีระบบ นิเวศลักษณะเฉพาะตัว ภายในโถงกลางหุบเขาเต็มไปด้วย “ต้นตาด (Arenga Westerhoutii Griff.)” ซึ่งเป็นพืชตระกูลปาล์มใบขนนก และพบพันธุ์ไม้ หายากอีกหลายชนิด อาทิขนุนดิน (Balanophora fungosa J.R. & G. Forst.) ต่อมาใน ปีพ.ศ. 2550 ได้มีการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก คือ “กิ้งกือมังกรสีชมพู(Desmoxytes purpurosea Enghoff, Sutcharit & Panha, 2007)” อีกด้วย

ทั้งนี้บนทิวเขาแนวเดียวกันกับทิวเขาอันเป็นที่ตั้งของแหล่งธรรมชาติ หุบป่าตาด ยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ คือ “แหล่งโบราณคดีสมัย ก่อนประวัติศาสตร์ภาพเขียนสีเขาปลาร้า” กำหนดอายุได้ประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว อยู่บนเพิงผายาวประมาณ 9 เมตร บนเขาปลาร้า แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของภูมิลักษณ์ทางธรรมชาติที่มีลักษณะโดดเด ่นที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้คน สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้เมื่อหลายพันปีมาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 คือ เขาฆ้องชัย ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนโดยมีพื้นที่ภูเขาเพียง 7 ตารางกิโลเมตร และมีความสูง 353 เมตร จากสภาพที่เป็นภูเขาหินปูน ทำให้มีถ้ำอยู่ถึง 4 แห่ง ได้แก่ ถ้ำเขาฆ้องชัย ถ้ำน้ำทิพย์ ถ้ำพรสวรรค์ และน้ำน้ำลอด ซึ่งมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม  ในบริเวณถ้ำเขาฆ้องชัยเป็นที่อยู่ของค้างคาวจำนวนมาก

ด้วยความสำคัญของภูมิลักษณ์ทางธรณีวิทยา ความหลากหลาย ทางชีวภาพของระบบนิเวศ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ยุคโบราณกับ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ตนได้ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่นั้น ทำให้มีแนวคิดในการ เสนอแหล่งภูมิลักษณ์ทางธรณีวิทยานี้เป็นมรดกของมนุษยชาติในฐานะของ “อุทยานธรณีโลก” ด้วยสามารถใช้มรดกทางธรณีอันเป็นต้นทุนสำคัญ ของพื้นที่เชื่อมโยงกับมรดกทางนิเวศวิทยาที่เป็นบริบทแวดล้อม และรวมไปถึง หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยืนยันปฏิสัมพันธ์ ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักในคุณค่า และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม ของชุมชนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นให้ สามารถสร้างงาน อาชีพ และความภาคภูมิใจอันจะนำไปสู่ความหวงแหน แหล่งอุทยานธรณีความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณค่าหลากมิติอย่างยั่งยืนต่อไป

หมายเหตุ : ที่มาจาก แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมเมืองเก่าอุทัยธานี (น.20-24), โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2564, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. และ การจัดทำแผนการจัดการอนุร้กษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติบริเวณเขาปลาร้าและเขาฆ้องชัย (น.26), โดย สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2541, กรุงเทพ: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ภาพที่เกี่ยวข้อง
3 ความคิดเห็น
ความคิดเห็น : 1
น่าสนใจมากค่ะ
ความคิดเห็น : 2
เป็นพื้นที่แหล่งธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากของประเทศ จากบทความนีี้ ทุกๆ ท่าน หากได้มีโอกาส ควรได้เข้าไปศึกษา หาความรู้ ในสถานที่จริงด้วยนะคะ....ขอบคุณความรู้ ดีๆ ค่ะ
ความคิดเห็น : 3
เป็นพื้นที่แหล่งธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากของประเทศ จากบทความนีี้ ทุกๆ ท่าน หากได้มีโอกาส ควรได้เข้าไปศึกษา หาความรู้ ในสถานที่จริงด้วยนะคะ....ขอบคุณความรู้ ดีๆ ค่ะ