สถานที่ตั้ง

จังหวัด สระแก้ว อำเภอ อำเภอตาพระยา ตำบล ทัพราช 27180

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

     "ละลุ" ตั้งอยู่ที่บ้านคลองยาง ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ประมาณ 2,๕๐๐ ไร่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอตาพระยาประมาณ 36 กิโลเมตร “ละลุ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ทะลุ” อันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากน้ำฝนกัดเซาะ ยุบตัวหรือพังทลายของดิน เนื่องจากสภาพดินที่แข็งจะคงอยู่ไม่ยุบตัว เมื่อถูกลมกัดกร่อน จึงมีลักษณะเป็นรูปร่างต่าง ๆ มองคล้ายกำแพงเมือง หน้าผา บ้างมีลักษณะเป็นแท่ง ๆ คล้ายกับแหล่งธรรมชาติบริเวณ “แพะเมืองผี” จังหวัดแพร่ แต่มีขนาดเล็กกว่า บางคนจึงเรียกว่า “แพะเมืองผีแห่งใหม่ ละลุสามารถเปลี่ยนรูปร่างไปได้ในแต่ละปีได้ หากได้รับแรงกระทำจากลม หรือฝน ละลุแห่งนี้ มีความสวยงามและแปลกตา จึงทำให้รู้สึกเสมือนว่ากำลังท่องเที่ยวอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์

ตำนานความเชื่อ

     ในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจมีเจ้าชายผู้ครองเมืองกษิตีณทรคาม มีเจ้าชายที่เป็นพี่น้องต่างมารดาต้องการแย่งชิงอำนาจ เข้ายึดครองเมืองได้ส่วนเจ้าชายหนีไปได้ เจ้าชายผู้พี่หมายจะเอาชีวิตของเจ้าชายผู้น้อง พระองค์จึงหนีเข้าไปในป่าลึก เมื่อมือสังหารจะยิงธนูใส่เจ้าชายที่หลับอยู่ เกิดปาฏิหาริย์มีพญานาคมาล้อมร่างเจ้าชายไว้และพ่นไฟใส่ร่างมือสังหาร หลังจากนั้นพญานาคกลับกลายร่างเป็นองค์หญิงรูปงาม เกิดความรักขึ้นระหว่างธิดาพญานาคกับเจ้าชายสร้างเมืองเล็กๆอยู่ด้วยกัน ความรักมีอุปสรรคเมื่อองค์หญิงต้องกลับไปเมืองบาดาล ทั้งสองต้องพรากจากกัน เจ้าชายผู้พี่นำกองทัพมาสังหารเจ้าชายจนสิ้นพระชนม์ องค์หญิงแห่งเมืองบาดาลทราบข่าวเกิดโกรธแค้นและเสียใจจึงขึ้นจากเมืองบาดาลมาทำลายกองทัพและพ่นพิษทำลายเมือง ร่วมถึงเมืองที่สร้างร่วมกันระหว่างองค์ชายด้วย พิษของพญานาคทำลายเมืองนั้นจนสลายสิ้น เมื่อเวลาผ่านไปมีนายพรานป่าชาวเขมรเข้ามาพบ เรียกว่า ละลุ ซึ่งแปลว่าแผ่นดินทะลุ

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

     ละลุ เป็นแหล่งธรรมชาติประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านคลองยาง ลักษณะพื้นที่ของบ้านคลองยางเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา จึงมีทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงาม มีอากาศบริสุทธิ์ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย เมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฝน ลม พายุ จึงมีการยุบตัวของดิน และเป็นแหล่งกำเนิดของ “ละลุ” ซึ่งเป็นประติมากรรมทางธรรมชาติ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

     เกิดจากการกัดเซาะชั้นดินโดยทางน้ำผิวดินทั้งแนวราบและแนวดิ่ง มีลักษณะเป็นหน้าผา มีหลืบร่อง การกัดเซาะบริเวณฐานมีส่วนช่วยให้เกิดการถล่มเป็นหน้าผาได้ง่ายขึ้น ชั้นดินเกิดจากการสะสมตะกอนในยุคควอเทอร์นารี ประกอบด้วยชั้นตะกอน ๔ ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นชั้นตะกอนขนาดทรายละเอียดถึงทรายแป้งปนดินเหนียว ชั้นที่สองเป็นกรวดขนาดเล็ก ชั้นที่สามเป็นชั้นตะกอนทรายละเอียดปนดินเหนียว แทรกด้วยชั้นทรายแป้งที่มีเม็ดกรวดขนาดเล็ก ชั้นบนสุดเป็นชั้นดินที่มีรากไม้และเศษไม้ปะปน

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

     สภาพแวดล้อมโดยรอบของแหล่งฯ ยังคงความเป็นธรรมชาติสูง ล้อมรอบด้วยพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ทั้งนาข้าว ไร่มันสำปะหลัง และมีทิวทัศน์ภูเขาของอุทยานแห่งชาติตาพระยา และอุทยานแห่งชาติปางสีดา ที่สวยงาม

ประเภทการใช้ประโยชน์

     เพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการ รวมทั้งการศึกษาวิจัยในพื้นที่

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

     สภาพภูมิทัศน์โดยรอบยังเป็นธรรมชาติอยู่มาก มีความสวยงามสามารถเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ แต่ชุมชนได้เข้ามาใช้พื้นที่เป็นทางผ่านและมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสใกล้เคียงกับแหล่งธรณี

โครงการพัฒนา

     จากการให้ข้อมูลของผู้ใหญ่บ้านคลองยาง ได้มีการนำเสนอการจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เสนอไปยังจังหวัดสระแก้ว โดยทางผู้ใหญ่บ้านร่วมกับทีมงานของวัฒนธรรม “บวร On Tour” จากกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้ชาวบ้านต้องการเปลี่ยนป้ายใหม่ เนื่องจากทางเข้ามายังแหล่งละลุค่อนข้างไกล และป้ายบอกทางตลอดเส้นทางเล็กและค่องนข้างเก่า จึงอยากได้ป้ายใหม่

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

     การให้บริการของแหล่งท่องเที่ยวละลุ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว “ละลุ” ซึ่งได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว ในการก่อสร้างศูนย์ฯ และส่งมอบให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลทัพราชเป็นผู้ดูแล เพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้ข้อมูลและชี้แจงเกี่ยวกับกฎระเบียบ ในการเข้าชมแหล่งฯ โดยที่ศูนย์ฯ จะมีบริการรถอีแต๊กจากชมรมรถอีแต๊กละลุ สำหรับบริการนำนักท่องเที่ยวจากศูนย์ฯ ไปเที่ยวชมความงดงามภายในบริเวณละลุ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางถนนลูกรัง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของแหล่งฯ จึงมีกฏห้ามนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าไปยังแหล่งฯ นอกจากนี้ยังมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นบรรยายเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวละลุแห่งนี้ สำหรับค่าบริการรถอีแต๊ก คนไทย 200 บาท/เที่ยว ส่วนต่างชาติ 300 บาท/เที่ยว นั่งได้ไม่เกิน 6 คน จากสถิติการเข้าชมของนักท่องเที่ยวสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 100 คน/วัน และจะมาในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งนักท่อเที่ยวบางกลุ่มที่มาเป็นหมู่คณะ จะมีการติดต่อประสานกับทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไว้แล้ว จึงไม่มีปัญหานักท่องเที่ยวแออัด และทางศูนย์ฯ มีการให้บริการอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยวต้องการพักค้างคืนในชุมชน ชุมชนมีกลุ่มโฮมเสตย์ มีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยวและนอกจากที่พักแล้ว ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมยามเย็น คือ บายศรีสู่ขวัญ และพาแลง ซึ่งหมายถึงการรับประทานอาหารเย็นซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่น และมีการแสดงระบำละลุ ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม หรือจะเป็นการกางเต็นท์นอนที่ลานละลุ เพื่ดูดาว หรือดูทางช้างเผือก ในช่วงหน้าหนาว ซึ่งมีบรรยากาศดี โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเฝ้าเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอดทั้งคืน
     การเข้าถึง เดินทางจาก อำเภออรัญประเทศ ไปตามทางหลวงหมายเลข 348 สายอรัญประเทศ-ตาพระยา จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่บ้านกุดเตย หลักกิโลเมตรที่ 35-36 ไปตามทางหลวงหมายเลข 3486 สายบ้านโคคลาน-บ้านคลองยาง ระยะทางโดยประมาณ 18 กิโลเมตร ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว “ละลุ” ต่อจากนั้นใช้บริการรถอีแต๊กของศูนย์ฯ ไปตามเส้นทางถนนลูกรัง ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงละลุ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมละลุได้ทั้งปี สำหรับช่วงเวลาที่แนะนำในการเที่ยวชมละลุ คือ ช่วงเช้ากับช่วงเย็น เพราะสามารถเห็นเสาดินเป็นสีทอง
     ที่ศูนย์ฯ มีการจำหน่ายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน สินค้า OTOP ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มเพื่อทำของที่ระลึกและของฝากจากชุมชนบ้านคลองยางให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพวงกุญแจที่ระลึก ตะกร้าสาน เสื่อกก ผ้าทอพื้นเมือง กล้วยฉาบ มะขามแก้ว รวมทั้ง ผักและสินค้าพื้นบ้านตามฤดูกาล เพื่อเป็นของขวัญของฝากสำหรับผู้มาเยือน

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา
ลักษณะทั่วไป
สิ่งอำนวยความสะดวก
- ไม่มีข้อมูล -