สถานที่ตั้ง

จังหวัด สุโขทัย อำเภอ อำเภอศรีสัชนาลัย ตำบล แม่สิน 64130

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

โป่งพุร้อน

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

- เป็นโป่งน้ำร้อนที่มีบ่อกำเนิดประมาณ 3 บ่อ แต่เนื่องจากมีน้ำเย็นไหลมารวมทำให้อุณหภูมิน้ำลดลง ปัจจุบันมีการเจาะบ่อเพิ่ม อีก 4 แห่ง และได้ก่อคอนกรีตครอบไว้

- นอกจากนี้เกษตรกรรอบๆพื้นที่โป่งสุเม่นได้มีการตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรมของตนซึ่งส่วนใหญ่ใช้ปลูกส้มเขียวหวาน ทาง อบต กล่าวว่ามีกติกาในการสูบน้ำ เช่นไม่สูบในช่วงเวลากลางคืน และมีการจัดรอบคิวในการสูบน้ำ และบริเวณตรงกันข้ามกับสำนักสงฆ์ได้มีการผันน้ำร้อนไปยังฝั่งตรงข้าม และมีการสร้างอาคารเพื่อที่จะไว้ใช้แช่เท้า แต่สภาพปัจจุบันอาคารดังกล่าวชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก

ตำนานความเชื่อ

 ความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดได้จากคำบอกเล่า ของอดีตผู้ใหญ่บ้านชื่อนายยวน ทองหล่อ อายุ 76 ปี คือ พื้นที่แถวห้วยน้ำร้อนนี้เจ้าที่แรง หากใครมา จับจองที่ดินหรือตัดไม้ บากไม้ ทำลายต้นไม้ จะมีอันเป็นไป นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องผีโป่ง อาศัยอยู่บริเวณห้วยน้ำร้อน มีลักษณะเป็นดินโป่ง โป่งตัวขึ้นมาเหนือดิน หากไปสัมผัสโดนจะป่วย เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ต้องแก้ด้วยมนต์คาถา

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

 

 

 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

โป่งสุเม่นห่างจากโป่งลำปางประมาณ 10 กิโลเมตร  ดังนั้นลักษณะทางธรณีวิทยาและอุทกธรณีจึงใกล้เคียงกัน ส่วนมากเป็นหินแข็งอายุไทรแอสสิกอยู่ในกลุ่มหินลำปาง (Lampang Group) หมวดหินวังชิ้น (Wang Chin Formation: Trwc) ประกอบด้วยหินดินดานและหินทราย สีเทา สีเทาถึงสีเทาแกมเขียว หินทรายแป้ง หินโคลน หินกรวดมน และหินปูน อาจพบ Halobia sp., Cassianella sp., Liostrea sp., Unioniye sp. และหอยสองฝา โดยบริเวณดังกล่าวมีตะกอนอายุควอเทอร์นารี (Quaternary : Qc) ซี่งเป็นตะกอนปัจจุบัน ประกอบด้วยตะกอนดินและเศษหินเชิงเขาปิดทับ พบว่าอยู่ในเป็นบริเวณที่เป็นตะกอนปัจจุบัน (Qa) ประกอบด้วยตะกอนน้ำพา กรวด ทราย ทรายแป้ง และดินเหนียวสะสมตัวตามร่องน้ำ คันดินแม่น้ำและแอ่ง และหินทรายเนื้อภูเขาไฟ หินทราย หินดินดาน สีเทาถึงเขียวเทา หินปูนในตอนบนของการลำดับชั้นหินในยุคเพอร์เมียน (Png 1)  และจากข้อมูลบ่อเจาะน้ำบาดาลบริเวณโป่งน้ำร้อน บ้านสุเม่น ซึ่งเจาะลึก 207 เมตร ทำให้พบว่าหินที่เป็นแหล่งความร้อนในระดับลึกเป็นหินแกรนิตในยุคไทรแอสซิก (TrGr)  สภาพอุทกธรณีวิทยาโป่งพุร้อนในพื้นที่ จากข้อมูลบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ พบว่ามีการเจาะบ่อน้ำบาดาลที่เป็นน้ำเย็นและน้ำร้อนหลายบ่อในเป็นน้ำพุร้อนที่ไหลขึ้นมาตามรอยแตกในหินแข็ง ความลึกประมาณ 100 เมตร

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

โป่งสุเม่น  ในพื้นที่บ่อกำเนิด (พื้นที่ส่วนที่ 1)  ไม่มีอาคารหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำพุร้อน เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ได้มีการก่อสร้างบ่อคอนกรีตขนาดใหญ่ครอบปากบ่อไว้จำนวน 2 จุด  และปล่อยให้น้ำไหลล้นออกไปรวมอยู่ในสระน้ำ

พื้นที่ส่วนที่ 2  ด้านที่เป็นพื้นที่ป่าชุมชน  สภาพของอาคารและบ่อน้ำแช่เท้า จำนวน 1 หลัง และห้องน้ำจำนวน 1 หลัง มีสภาพทรุดโทรม ไม่สามารถจะใช้งานได้

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

 โป่งสุเม่น พบแพลงก์ตอนพืชทั้งหมด 4 Division 6 species  โดยมีความหลากหลายมากที่สุดคือ

1) Division Chlorophyta พบ Monoraphidium sp. คิดเป็นร้อยละ 64 และ Chlorella sp. คิดเป็นร้อยละ 14 ของแหล่ง ตามลำดับ

2) Division Cyanophyta พบ Cyanobacterium sp. คิดเป็นร้อยละ 9, synechococcus sp. คิดเป็นร้อยละ 8.39และ Oscillatoria sp. คิดเป็นร้อยละ 2 ของแหล่ง 3) Division Bacillariophyt พบ Cyclotella sp. คิดเป็นร้อยละ 1 ของแหล่ง แหล่ง 4) Division Euglenophyta พบ Entosiphon sp. คิดเป็นร้อยละ 0.70 ของแหล่งตามลำดับ

ลักษณะปัจจัยชีวภาพโดยรอบโป่งสุเม่น

1)  สังคมพืชบริเวณโป่งสุเม่น   

      1.1) ไม้ยืนต้น

          ลักษณะโครงสร้างป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบบริเวณพื้นที่โดยรอบ ทั้งสิ้น จำนวน 152 ต้น 18 วงศ์ 24 ชนิด ชั้นเรือนยอดมีความสูงประมาณ 1.5 – 20 เมตร โดยพบพืชในวงศ์ SAPINDACEAE มากที่สุด เช่น คอแลน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพืชในวงศ์อื่น ๆ เช่น FABACEAE MALVACEAE MELIACEAE ANACARDIACEAE DIPTEROCARPACEAE เป็นต้น

เมื่อประเมินความเด่นของชนิดไม้ในสังคม โดยใช้ค่าดัชนีความสำคัญ (Importance Value Index: IVI) ชนิดไม้ที่มีค่าดัชนีความสำคัญสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คอแลน (100.16) ปอหู (35.85) ปอหยุมยู่ (31.83) มะไฟ (12.67) และยมหอม (12.38) ตามลำดับ ชนิดไม้ที่มีพื้นที่หน้าตัดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คอแลน ปอหู และปอหยุมยู่ ตามลำดับ ชนิดไม้ที่มีค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คอแลน ปอหยุมยู่/ปอหู และมะไฟ มีค่าเท่ากับ 50.66, 9.87, และ 3.95 % ตามลำดับ ชนิดไม้ที่มีค่าความถี่สัมพัทธ์ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คอแลน ปอหยุมยู่/มะไฟ และปอหู/มะม่วงป่า มีค่าเท่ากับ 19.23, 7.69, และ 5.77 % ตามลำดับ

สำหรับต้นไม้ภายในบริเวณโป่งสุเม่น ต. แม่สิน อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัยนั้น ประกอบไปด้วยไม้ยืนต้นหลากหลายชนิดพันธุ์ อาทิ ตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris (L.) R. Br.) สัก (Tectona grandis Linn.f.) กระท้อน (Sandoricum koetjape (Burm.f.) Merr.) สะเดา (Azadirachta indica A. Juss) ราชพฤกษ์ (Cassia fistula L.) ขี้เหล็ก (Senna siamea (Lam.) งิ้ว (Bombax ceiba Linn.) มะยม (Phyllanthus acidus) มะไฟ (Baccaurea ramiflora Lour.)

1.2) ไม้หนุ่มและกล้าไม้

 ไม้หนุ่มที่พบประกอบไปด้วย ชงโค และคอแลน จำนวนชนิดละ 2 ต้น และพบพรรณไม้ชนิดอื่นอีก ได้แก่ แคขาว จำนวน 1 ต้น ส่วนกล้าไม้ที่พบบริเวณนี้ได้แก่ แคขาว วัชพืชและไม้คลุมดินชนิดอื่น ๆ คือไมยราบเป็นจำนวนมากได้สุด คือ จำนวน 13 ต้น สาบเสือ และ หญ้าเพ็ก เป็นต้น

2) สัตว์ป่า

สำหรับความหลากหลายของสัตว์ป่าที่พบบริเวณนี้จากข้อมูลทุติภูมิที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ชุมชน เช่น ไก่ป่า นกหลายชนิด และงู เป็นต้น

ประเภทการใช้ประโยชน์

- พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

- อบต.แม่สิน ได้ดำเนินการจัดระเบียบให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรสวนส้มในพื้นที่รอบบ่อน้ำพุร้อนสูบน้ำไปใช้ประโยชน์ในการรดสวนส้ม

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

อบต.แม่สิน ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ โดยสร้างอาคารแช่เท้า ห้องน้ำหญิง-ชาย-ผู้พิการ

ปรับภูมิทัศน์ โดยมีสร้างทางเท้าภายในสวน การปลูกไม้ประดับ ป้ายทางเข้าด้านหน้า  นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าของน้ำพุร้อน ยังมีอาคารเปิดโล่ง สำหรับใช้ทำกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุตำบลแม่สิน

โครงการพัฒนา

- มีโครงการก่อสร้างสถานที่จัดจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นตำบลแม่สิน

- มีการสร้างสะพานยื่นออกไปกลางสระเพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

- การสร้างบ่อแช่เท้า

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

มีอาคารแช่เท้า ห้องน้ำหญิง-ชาย-ผู้พิการ ปรับภูมิทัศน์ โดยมีสร้างทางเท้าภายในสวน การปลูกไม้ประดับ ป้ายทางเข้าด้านหน้า  นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าของน้ำพุร้อน ยังมีอาคารเปิดโล่ง สำหรับใช้ทำกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุตำบลแม่สิน

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทโป่งพุร้อน
ลักษณะทั่วไป
คุณค่าความสำคัญ
- ไม่มีข้อมูล -