สถานที่ตั้ง

จังหวัด พัทลุง อำเภอ อำเภอเมืองพัทลุง ตำบล คูหาสวรรค์ 93000

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ภูเขา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

เขาอกทะลุ เป็นภูเขาหินปูน อยู่กลางเมืองพัทลุง เป็นสัญลักษณ์ประจำ จังหวัดพัทลุง มีความสูงประมาณ 250 เมตร ลักษณะพิเศษของเขาอกทะลุ คือ มีช่องกว้างประมาณ 10 เมตร ที่มองลอดทะลุยอดภูเขาอยู่บริเวณเกือบตอนปลายของยอดเขา มีบันไดเดินเท้าไต่ขึ้นไปจนถึงช่องเขาทะลุ และสามารถปีนต่อขึ้นไปจนถึงลานหินบนยอดเขาได้ เป็นจุดชมวิวที่สามารถชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุงได้รอบทิศทาง  ชาวเมืองพัทลุงเชื่อถือและเปรียบ ภูเขาอกทะลุ เสมือนเสาหลักเมืองพัทลุง ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงนำภาพ เขาอกทะลุ และเจดีย์บนยอดเขามาทำเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้ เขาอกทะลุ ยังเป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด

ตำนานความเชื่อ

ชาวเมืองพัทลุงเชื่อว่าเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของเจ้าแม่ดุดี เจ้าแห่งเขาอกทะลุ และเชื่อว่าเขาอกทะลุเปรียบเสมือนเสาหลักเมืองพัทลุงด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงนำภาพเขาอกทะลุและเจดีย์บนยอดเขามาทำเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด ส่วนตำนานที่มาของชื่อเขาอกทะลุนั้นเกิดจากการวิวาทกันระหว่างเมียหลวง-เมียน้อย เมียหลวงใช้กระสวยทอผ้าฟาดหัวเมียน้อยจนแตก   ส่วนเมียน้อยใช้สากตำข้าวกระทุ้งหน้าอกเมียหลวงอย่างแรงจนอกทะลุ ทั้งสองตายตกไปตามกัน กลายเป็นภูเขา เมียหลวงกลายเป็นเขาอกทะลุ เมียน้อยเป็นเขาหัวแตก (เขาคูหาสววรค์)

ตำนานของเขาอกทะลุเล่าว่า นานมาแล้วมีครอบครัวหนึ่งสามีชื่อนายเมืองเป็นพ่อค้าช้าง มีภรรยาสองคนภรรยาหลวงชื่อนางสินลาลุดี หรือนางดุดี ภรรยาน้อยชื่อนางบุปผาแต่มักทะเลาะตบตีกันเสมอ นายเมืองมีลูกสาวเกิดจากภรรยาหลวงคนหนึ่งชื่อนางยี่สุ่นชื่นชอบการค้าขาย ส่วนภรรยาน้อยมีลูกชายชื่อนายซังกั้ง มีนิสัยเกเร วันหนึ่งนายเมืองเดินทางไปค้าขายช้างต่างถิ่น ลูกสาวออกเรือสำเภาไปเมืองจีน ส่วนลูกชายท่องเที่ยวสนุกกับเพื่อน ทั้งสามไม่ได้กลับบ้าน มีเพียงภรรยาหลวงนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน และภรรยาน้อยกำลังตำข้าว ไม่นานทั้งสองเกิดมีปากเสียง ภรรยาหลวงใช้กระสวยทอผ้าพาดไปที่ศีรษะของภรรยาน้อย ทำให้แผลแตกเลือดไหลโกรก ภรรยาน้อยไม่ปราณีใช้สากตำข้าวแทงและกระทุ้งตรงทรวงอกของภรรยาหลวงจนทะลุ ในที่สุดทั้งสองก็ถึงแก่ความตาย กลายสภาพเป็นภูเขา ภรรยาน้อยกลายเป็นเขาหัวแตก ส่วนภรรยาหลวงกลายเป็นเขาอกทะลุนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ต่อมาเมื่อนายเมืองเดินทางกลับมาทราบข่าวการตายของภรรยาทั้งสอง ก็ตรอมใจตายกลายเป็นเขาเมือง (เขาชัยบุรี) ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้างหมอบ จากนั้นไม่นายนางยี่สุ่นก็เดินทางกลับมาถึงได้ทราบข่าวการตายของบิดามารดาก็ตรอมใจตายเช่นกันแล้วได้กลายเป็น เขาชัยสน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ในท้องที่อำเภอเขาชัยสน ส่วนนายซังกั้งเดินทางกลับมาเป็นคนสุดท้ายช้าทีสุดก็ได้ทราบข่าวการตายของคนในครอบครัวก็ตรอมใจตายกลายเป็นเขากัง

-  มีอีกหนึ่งตำนานที่เกี่ยวกับเขาอกทะลุลูกนี้ว่า ในอดีตนานมาแล้วทางฟากฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาไม่มีภูเขาชาวท้องถิ่นในละแวกนั้นต้องการให้มีภูเขาเพื่อเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด จึงพร้อมกันว่าจ้างนายแรงผู้มีพลังมหาศาลให้หาบเขาจำนวน ๑๐๐ลูก มาเรียงติดต่อกันเป็นลูกเดียวโดยไปหาบมาจากทวีปอุดร นายแรงรับตกลงไปหาบเขาจากทวีปอุดรครั้งละ ๒ ลูกมาวางต่อเรียงกันเข้า หาบได้ ๔๙หาบ ได้เขา ๙๘ลูก เผอิญหาบสุดท้ายคือหาบที่ ๕๐คานหาบหักสะบั้นลงทำเอานายแรงเสียหลัก คุกเข่าลงบนพื้นดินอย่างแรงทำให้พื้นดินตรงนั้น กลายเป็นหนองลึก ชาวบ้านเรียกว่า “หนองนายแรง” มีกุ้งปลาชุกชุม เขา ๒ ลูกที่หาบมานั้นก็กระเด็นไปไกลลูกแรกที่ไปตกทางทิศตะวันออก เรียกว่า เขารัดปูน ลูกที่สองไปตกทางทิศตะวันตก เรียกว่าเขาใน ส่วนเขา ๙๘ลูก ที่วางเรียงติดกันไว้แล้วนั้นคือเกาะใหญ่นั่นเอง (เขารัดปูน เขาในเกาะใหญ่ อยู่ในเขตอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา)  และการที่คานหาบหักสะบั้นในเที่ยวสุดท้ายทำให้นายแรงเกิดโมโหสุดขีด จับไม้คานข้างหนึ่ง พุ่งไปทางทิศตะวันออกโดยแรงไปตกที่ตำบลสนามไชย ปลายคานหาบยังดันดินไปเป็นเป็นทางยาว จนกลายเป็นลำคลอง เรียกว่าคลองรี (ตำบลสนามไชย คลองรี อยู่ในเขตอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา)ส่วนไม้คานอีกข้างหนึ่ง นายแรงจับพุ่งไปทางทิศตะวันตกข้ามทะเลสาบสงขลา ผ่านบ้านลำปำบ้านควนมะพร้าว ปลายคานหาบไปชนยอดเขาลูกหนึ่งเข้าอย่างจังจนยอดเขาทะลุจึงมีชื่อเรียกว่า“เขาอกทะลุ” อยู่ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุงเป็นตราสัญลักษณ์ของเมืองพัทลุงมาจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

พ.ศ.๒๔๓๒ (ร.ศ.๑๐๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพัทลุง 

“...เขาอกทะลุนั้นที่ยอดเขามีเป็นยอดสูงโดดขึ้นไปอิกชั้นหนึ่ง มีช่องเป็นปากถ้ำกว้าง ปล่องไปทะลุข้างเขาอีกด้านหนึ่งตรงกันเป็นลำกล้องตะแคงแลเห็นฟ้า แลเห็นต้นไม้ตามช่องนั้นได้ ที่ในช่องนั้นว่ากว้างเท่านาอันหนึ่ง นัยหนึ่งว่าช้างสองตัวลอดพร้อมกันได้ ตามที่ว่านี้ยากที่จะเอาแน่ได้ เพราะเป็นที่สูงเหลือที่จะวัดสอบ...” 

เขาอกทะลุเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัดภายในถ้ำต่างๆบนภูเขามีการค้นพบพระพิมพ์ดินดิบ ศิลปะสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 12-13) จำนวนมาก กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่72 วันที่ 8 ธันวาคม 2478

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

เขาอกทะลุ เป็นภูเขาหินปูน ตั้งอยู่พื้นที่ราบลุ่มใจกลางเมืองพัทลุงซึ่งวางตัวตามแนว เหนือ-ใต้มีความสูง ประมาณ 250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร  มีลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำหินปูนมีทั้ง หินงอก หินย้อย

 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

ธรณีวิทยา    - 
ลักษณะภูมิประเทศ    เป็นภูเขาหินปูนตั้งอยู่พื้นที่ราบลุ่มใจกลางเมืองพัทลุงซึ่งวางตัวตามแนว เหนือ-ใต้มีความสูง ประมาณ 250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร  มีลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำหินปูนมีทั้ง หินงอก หินย้อย บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของ ถ้ำคุรำ และ ถ้ำเล็กๆอีกหลายแห่ง
ดิน    ดินภูเขา บางส่วนมีการก่อสร้างบันได และทางเดินด้วยคอนกรีต
น้ำ    -
ขยะ    -
ภูมิทัศน์    ภูเขาหินปูนที่มียอดเขาเป็นช่องทะลุสามารถมองลอดผ่านเห็นทิวทัศน์อีกฝั่งได้ และอีกฟากของเขาเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ถ้ำมาลัย รอบๆพื้นที่เชิงเขาเป็นที่ตั้งของชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

พืชพรรณ    ลักษณะพืชพรรณป่าดิบชื้น
สัตว์ป่า    -

ประเภทการใช้ประโยชน์

เป็นจุดชมวิวที่สามารถชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุง และเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ถ้ำมาลัย

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

มีการเข้าถึงได้สะดวกจากถนนใหญ่สภาพพื้นที่มีการพัฒนาในส่วนบริการทางเดิน และบันได ด้วยคอนกรีต บางส่วนมีการพัฒนาเป็นสำนักสงฆ์ดูไม่กลมกลืนกับธรรมชาติ

โครงการพัฒนา

  • โครงการสู่สุดยอดเมืองลุง เพื่อพัฒนาเขาอกทะลุ มีการก่อสร้างบันไดจากเชิงเขาถึงช่องทะลุ โดยการก่อสร้างเจดีย์บนยอดเขา ก่อสร้างบันไดทางขึ้นจากช่องทะลุไปถึงยอดเขา ก่อสร้างราวบันไดอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และจัดสร้างที่ประดิษฐานองค์พระ และหล่อพระพุทธรูป รูปปั้นหลวงพ่อทวด หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ โดยกำหนดจุดประดิษฐานบริเวณทางขึ้นเขาอกทะลุและบริเวณลานช่องทะลุ และดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเขาอกทะลุ (โดยเทศบาลเมืองพัทลุง ปี 2556)
  • โครงการพัฒนาเขาอกทะลุ ณ เขาอกทะลุ ชายหาดลำปำ และทะเลน้อย(โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ ปี 2556)

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

ลานจอดรถ ทางเดิน ห้องน้ำ บันได ศาลาชมวิว สำนักสงฆ์ กุฏิที่พักพระสงฆ์ เจดีย์ประดับกระเบื้องโมเสก

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทภูเขา
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -