สถานที่ตั้ง

จังหวัด ขอนแก่น อำเภอ อำเภอชุมแพ ตำบล นาหนองทุ่ม 40290

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ถ้ำ

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น
- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

           ถ้ำผาพวงเดิมชื่อ ถ้ำร้อยพวง ตั้งอยู่บนเขาภูผาพวง  เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่  ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยลักษณะเป็นพวง  อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำผาพวง  ลักษณะดินในถ้ำเป็นดินทราย  โถงกลางถ้ำเป็นช่องกว้างแสงเข้าถึง  เนื่องจากเพดานถ้ำถล่มลงมาทำให้สามารถเดินขึ้นไปหน้าผาด้านบนได้  ซึ่งด้านบนหลังคาถ้ำเป็นป่าบนเขาหินปูน

 

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

1. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

           ภาพเขียนสีพิกรัดกริด 481903E 1862282N ภาพเขียนสีที่ถ้ำผาพวงเป็นแหล่งภาพเขียนสีที่พบใหม่จากการสำรวจครั้งนี้  เนื่องจากไม่มีข้อมูลการค้นพบภาพเขียนสีที่ถ้ำแห่งนี้เลย  โดยพบบริเวณผนังหินหน้าทางเข้าถ้ำ  พื้นผิวหินขรุขระไม่เรียบ  มีการเขียนเส้นเป็นภาพสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างอิสระ เช่น ภาพลายตาราง  ภาพลายตารางที่มีจุดวงกลมด้านใน  ภาพคล้ายต้นไม้  ตำแหน่งภาพเขียนสีที่พบอยู่สูงจากระดับพื้นประมาณ 11-14 เมตร  

2. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์

          หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในปัจจุบัน เช่น  อ่างน้ำซีเมนต์  สิ่งก่อสร้างไว้ใช้สำหรับเก็บของของพระธุดงค์ที่ทำจากไม้ไผ่  ด้านในเก็บของจำพวกกะทะ หม้อ จาน ชาม ขัน ฯลฯ  แคร่ไม้  และร่องรอยขี้เถ้าจากการประกอบอาหาร  รวมทั้งมีการสลักหินงอกเป็นรูปหน้าคนด้วย

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

1) สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำ เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสูงชันสลับซับซ้อนกันเป็นแนวยาวสลับกับที่ราบลุ่มเชิงเขาสูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 200 - 1,000 เมตร

2) สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ

         ประเภทของถ้ำผาพวงเป็นถ้ำแห้ง (dry cave) ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคเพอร์เมียน (Permian: P1)  หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูน (Limestone) หินปูนโดโลไมต์เนื้อสีเทาจาง (Dolometic Limestone) หินปูนเนื้อทรายสีเทา แนวสัมผัสของหินซิลิเกต หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 250-300 ล้านปี แนวโถงถ้ำมีความยาวรวม 154.44 เมตร ประกอบด้วย โซนถ้ำมีแสงส่องถึง และถ้ำมืด เป็นโถงที่มีแนวต่อกัน มีทิศทางการวางตัวอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 457 เมตร  แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย เสาหิน และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก  

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

1. การสำรวจพรรณพืช  ในเขตอุทยานประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และสวนป่า มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก มะค่าโมง เต็ง รัง เหียง พลวง ยาง สัก ไผ่ชนิดต่าง ๆ  และพรรณไม้พื้นล่างที่สำคัญได้แก่ ต้นลาน หวาย พืชสมุนไพร และกล้วยไม้ต่าง ๆ  ส่วนสัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ เลียงผา เก้ง หมูป่า ลิง กระต่ายป่า นิ่ม ตะกวด และอื่น ๆ  ประมาณ 60 ชนิด นกชนิดต่าง  ๆ ประมาณ 50 ชนิด แมลงและผีเสื้อชนิดต่าง ๆ  กว่า 200 ชนิด

2. สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำเนื่องจากสภาพป่าไม้โดยรอบถ้ำเป็นป่าเต็งรัง ที่เสื่อมสภาพและมีความแห้งแล้งสูง ดังนั้นจึงพบร่องรอยสัตว์น้อยมาก

ประเภทการใช้ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ที่ดิน

           ถ้ำเขาพวงอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงไม่สามารถทำได้ ประกอบกับสภาพพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูแล้ว ต้องมีความระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องไฟป่า  

การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ

           การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ ถ้ำผาพวง ส่วนใหญ่ในรัศมี 5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าไม้ เนื่องจาก ถ้ำผาพวง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน บริเวณพื้นที่ราบส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย ข้าวโพด และยูคาลิปตัส และไม่พบกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อถ้ำผาพวง

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

           ถ้ำผาพวง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามและน่าเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยสองโถงถ้ำ โถงถ้ำแรกมีขนาดกว้าง ประมาณ 12 เมตร ยาวตาม ความลาดเอียงจากสูงมาต่ำลงมาทางปากถ้ำยาว ประมาณ 30 เมตร ความสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 เมตร โดยถ้ำมีลักษณะพิเศษคือโถงถ้ำทะลุหากันคล้ายเป็นโพรงขนาด ใหญ่มาก โถงที่สองเป็นโถงถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย เสาหิน (column) กระจายอยู่ทั่วบริเวณโถงถ้ำ ซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 40 เมตร ความสูงโดยเฉลี่ยอยู่ ที่ประมาณ 15 เมตร 

โครงการพัฒนา

การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน
          เนื่องจากถ้ำผาพวงอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ดังนั้นการบริหารจัดการจึงขึ้นอยู่กับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพียงหน่วยงานเดียว

แผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำ
          จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาถ้ำผาพวงในอนาคต ทางเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่าถ้ำนี้ยังมีศักยรูปที่จะพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ในอนาคตอาจจะมีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถเข้าไปสู่บริเวณพื้นที่ตีนเขาก่อนที่จะมีการเดินเท้าต่อ และต้องมีการซ่อมสะพานไม้บางช่วงเนื่องจากเก่าและชำรุดมาก

ข้อเสนอแนะ 

           การเข้าถึงแหล่งมีความลำบาก เนื่องจากต้องเดินป่าเป็นระยะทางไกลและต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางเท่านั้น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่จากหน่วยหน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำผาพวง ไม่เคยพบโบราณวัตถุและกรมศิลปากรไม่เคยเข้ามาสำรวจหรือดำเนินการทางโบราณคดีเลย และจากการสำรวจเบื้องต้นก็ไม่พบโบราณวัตถุใด ๆนอกจากภาพเขียนสีบริเวณปากทางเข้าถ้ำผาพวงภาพเขียนสีที่พบยังมีความสมบูรณ์อยู่บ้าง ไม่ได้ถูกทำลายไปทั้งหมด แม้ว่าจะมีการรบกวนจากปัจจุบันด้วยการขีดเขียนทับลงไปบนภาพเขียนสีทำให้คุณค่าของแหล่งลดลง อย่างไรก็ตามกรมศิลปากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาดูแลรักษา และทำการบันทึกข้อมูลไว้ก่อนที่ภาพจะลบเลือนไปมากกว่านี้

 

 

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

สิ่งก่อสร้างและการบริการ
ภายนอกถํ้า
           ถ้ำผาพวงต้องจอดรถไว้ที่หน่วยพิทักษ์ผาพวง และเดินไปตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใช้เป็นเส้นทางลาดตะเวน จึงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ระหว่างทางเดิน ระหว่างเส้นทางมีช่วงที่ค่อนข้างชัน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ทำบันไดไม้ ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ชำรุดมาก

ภายในถ้ำ
           เนื่องจากถ้ำผาพวงค่อนข้างที่จะห่างไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่ามาก และถ้ำมีช่องเปิดรับแสง 2 ช่อง ด้านโถงแรกของถ้ำจึงสว่างและมีแสงแดดส่องถึง คาดว่าในอดีตผู้ที่มาเยือนต้องนำไฟแสงสว่างมาเอง แต่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาน้อยมาก เนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกล และความสวยงามของถ้ำลดน้อยลงมาก

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
แผนที่
- ไม่มีข้อมูล -