สถานที่ตั้ง

จังหวัด เชียงราย อำเภอ อำเภอแม่สาย ตำบล โป่งผา 57130

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ถ้ำ

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น
- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

     เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้างมากภายในถ้ำจะพบกับความงามของ เกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำและถ้ำลอด ถ้ำหลวงยังรอคอยความท้าทายการสำรวจจากนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลาเพราะสำรวจไปได้ไม่ถึงที่หมายก็ต้องล่าถอยออกมาด้วยพบกับอุปสรรคความยากลำบากภายในถ้ำและยังมีถ้ำเล็กๆอีก 3 แห่งในบริเวณเดียวกัน

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

     ปากถ้ำที่สูง โถงถ้ำแรกที่เปิดกว้างระดับพื้นดินต่ำกว่าปากถ้ำมากเนื่องจากเป็นร่องทางน้ำที่ไหลออกจากถ้ำ โดยมีร่องน้ำผ่านระหว่างโถงที่ 1 และทางขวามือของร่องน้ำจะเป็นโนนดินที่สูงขึ้น มีร่องรอยหลุมยุบ และเป็นโถงที่ 2 ต่อจากโถงที่ 1 มีร่องรอยหินถล่มด้านซ้ายมือ เมื่อสิ้นสุดบันไดจากบริเวณปากถ้ำ เป็นทางเดินดินสั้น ๆ ต่อจากนั้นเป็นขั้นบันไดที่เทด้วยปูนซิเมนต์จำนวน 5-6 ขั้น ยกระดับขึ้นทอดเข้าสู่ความยาวของตัวถ้ำ โดยที่ในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมภายในถ้ำ และบริเวณร่องน้ำโถงที่ 1 ดังนั้น จึงไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี ภายในถ้ำ 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

1. สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำ
    ประกอบไปด้วยชั้นหินปูน หมวดหินราชบุรี (Ratburi Group) ที่เกิดอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) ต่อยุคเพอร์เมียน (Permian) ซึ่งมีช่วงอายุระหว่าง 345-230 ล้านปี หินที่พบมีทั้งหินปูน (Limesmtone) และหินอ่อน (Marble) สีเทาถึงเทาดำ มีซากบรรพชีวิน (Fossil) สลับด้วยหินดินดาน (Shale) สีเทา

2. สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ
    ถ้ำหลวง
: ประเภทของถ้ำเขาหลวงเป็นถ้ำกึ่งแห้ง เนื่องจากบางส่วนยังมีการเกิดของหินงอก และหินย้อยอยู่ และบางส่วนแห้งแล้ว อยู่ในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน (Carboniferous-Permian: CP) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูนสีเทาอ่อน (Limestone) หินอ่อน (Marble) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 270-320 ล้านปี ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 433 เมตร แนวโถงถ้ำมีโถงหลักเพียงโถงเดียว แต่เส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเดินเข้าถึงได้ง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ จนถึงเส้นทางเดินลำบาก มีความยาวรวม 759.76 เมตร เมตร และโถงแยกฝั่งตรงข้ามทางเดินเข้าถ้ำ มีความยาว 68.27 เมตร  ซึ่งการสำรวจในครั้งนี้ สำรวจจนสิ้นสุดห้องลับแล เนื่องจากทางที่จะไปโถงอื่น ๆ นั้นลำบากมาก แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย หินงอก เสาหิน ม่านเบคอน ผลึกแร่แปรงล้างขวด หลอดโซดา และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน ตะกอนดินเหนียว หาดทราย พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่นปัจจุบัน (Ripple Mark) ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (Tension Crack) นอกจากนี้ยังพบรอยระดับน้ำ หลุมยุบ และโพรงบริเวณเพดานถ้ำ (Anastomosis) และการแตกออกของผนัง 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

1. การสำรวจพรรณพืช
    พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ผลัดใบ ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 33 ต้น จาก 15 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ เสี้ยว (Bauhinia sp.) มอน (Alangium chinense) แดงดง (Walsura robusta) ค้างคาว (Aglaia edulis) และขี้เหล็กเทศ (Senna occidentalis) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 52.02, 42.88, 25.18, 22.11 และ 19.72 ตามลำดับ พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 2-20 เมตร โดยพันธุ์ไม้ที่มีความสูงและความโตมากที่สุด คือ ต้นแดงดง จากตารางดัชนีค่าความสำคัญ  พบว่า เสี้ยวเป็นพันธุ์ไม้ที่พบมีจำนวนมาก แม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่ที่สุดแต่มีความมากมาย (Abundance) สูง จึงเป็นพันธุ์ไม้เด่นที่สุดในพื้นที่นี้ ในขณะที่มอญและแดงดงมีจำนวนต้นน้อยแต่มีขนาดลำต้นใหญ่ จึงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเด่นเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ   สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำหลวงนางนอนมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 2.43

2. สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำ
    จากการรายงานของ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 15 กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า สัตว์ป่าที่สามารถพบในพื้นที่เขตวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน จำแนกออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้

  • กลุ่มนก มักเป็นกลุ่มที่พบได้ง่ายที่สุด เช่น นกโพระดกคอสี ฟ้า (M.asiatica) ไก่ป่า (Gallusgallus Linmaeur) นกยูง นกกะปูดใหญ่ (Centropus sinensis stephons) กลุ่มเหยี่ยวและกลุ่มนกกระจิ๊บกระจ้อยอีกหลายชนิด
  • กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดที่ยังพบเห็นได้ในปัจจุบัน คือ หมูป่า (Sus sczofa Linnaeus) เก้ง (Muntiacus muntiak Zimmezmann) กระจงเล็ก (Tragulus javancus Osbeck)  กระแตใหญ่เหนือ (Tupaia bulangerid Wagne) และกระรอก (Calloseiurus sp) เป็นต้น
  • กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน (reptiles) สัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบก (amphibians) ชนิดที่ได้พบเห็นในปัจจุบัน ได้แก่ ตะกวด กิ้งก่า งูชนิดต่าง ๆ จิ้งเหลน และตุ๊กแก เป็นต้น
    นอกจากนี้ภายในถ้ำ ยังพบค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำ

ประเภทการใช้ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ที่ดิน
     ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณร้อยละ 55 และพื้นที่ป่าไม้ประมาณร้อยละ 26 ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่อื่น ๆ

การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
     การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ นอกนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชาวบ้าน เช่น ไร่ สับปะรด สวนลำใย และสวนลิ้นจี่ และไม่พบกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

โครงการพัฒนา

การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน

1. แผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำ
    ถ้ำหลวง อยู่ในการดูแลของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ค่อนข้างน้อย จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ พบว่า หากมีคณะนักเรียนหรือผู้มาเยือนเป็นกลุ่มใหญ่ จะมีการประสานไปทางชาวบ้าน เพื่อช่วยมาทำหน้าที่ไกด์ท้องถิ่น และหากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินเที่ยวเอง ทางเจ้าหน้าที่ก็อนุญาติ แผนการจัดการพื้นที่ ยังไม่มี       

2. การมีส่วนร่วมของชุมชน 
    ชาวบ้านจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ วนอุทยานฯ หากคณะ นักท่องเที่ยวต้องการ ไกด์ชาวบ้าน ในการพาเข้าพื้นที่ถ้ำ

3. สถิตินักท่องเที่ยว
    เนื่องจากทางวนอุทยานฯ รวบรวมสถิตินักท่องเที่ยวเป็นจำนวนรวม มิได้แยกว่านักท่องเที่ยวมาที่ถ้ำหลวง หรือไปที่ขุนน้ำนางนอน   แต่ จากการที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ในช่วงฤดูฝนพื้นที่ถ้ำถูกปิด จึงคาดการณ์ได้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาที่ถ้ำหลวง จะมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เมษายน 

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

สิ่งก่อสร้างและการบริการ

1. ภายนอกถ้ำ
    วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนอยู่ในท้องที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 โดยหน่วยงานที่ดูแลหลักคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย 

2. ภายในถ้ำ
    ถ้ำหลวง จะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมพื้นที่ถ้ำ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เนื่องจากน้ำจะไหลเข้ามาท่วมภายในถ้ำซึ่งจะไม่ปลอดภัย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานฯ พบว่า นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมถ้ำส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  อาจเนื่องมาจากภายในถ้ำค่อนข้างเปียกชื้น และทางวนอุทยานฯ ไม่ได้มีการติดตั้งแสงไฟส่องสว่าง นักท่องเที่ยวต้องยืมหรือเช่าไฟฉายจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งถ้ำหลวงอาจไม่ใช่ลักษณะถ้ำที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวไทย แต่อาจมีความเหมาะสมในเชิงการศึกษาวิจัย   ดังนั้น ป้ายแสดงเส้นทาง หรือบอกรายละเอียดภายในถ้ำมีบ้างแต่ค่อนข้างชำรุด 

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
- ไม่มีข้อมูล -