สถานที่ตั้ง

จังหวัด ลำปาง อำเภอ อำเภองาว ตำบล บ้านหวด 52110

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ถ้ำ

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

     เป็นถ้ำกึ่งแห้งมีการเกิดของหินงอก และหินย้อยอยู่น้อยมาก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาไท อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) โถงถ้ำมีโถงเดียวมีความยาว รวม 414.54 เมตร วางตัวในทิศทาง ตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ (SW-NE) 

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

ประวัติการศึกษาทางโบราณคดี
     สันนิษฐานว่าถูกค้นพบโดยพรานป่าล่าสัตว์ หรือจากการสำรวจทางหลวงแผ่นดิน ภายในถ้ำเป็นโถงขนาดใหญ่เกิดจากภูเขาหินปูนอายุไม่น้อยกว่าเก้าล้านปี ความลึกจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 1,150 เมตร แต่บริเวณที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปชม ยาวประมาณ 500 เมตร 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

     มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคไทรแอสสิกตอนกลาง (Triassic : TrPk) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูนสีเทาเข้ม (Limestone) หินปูนกรวดเหลี่ยม (Brecciate Limestone) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 230-250 ล้านปี ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 430 เมตร แนวโถงถ้ำมีโถงเดียวมีความยาว รวม 414.54 เมตร วางตัวในทิศทาง ตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ (SW-NE) พบว่ามีปล่องแสงจำนวน 2 จุด นอกจากนี้ยังมีโถงถ้ำอิดคอยหายด้วย แต่ไม่เปิดให้เข้า เนื่องจากอันตราย แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย หินงอก เสาหิน หลอดโซดา หินน้ำไหล ไข่มุกถ้ำ และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน ตะกอนทรายแดงบริเวณผนังถ้ำ และพบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (Tension Crack) นอกจากนี้ยังพบรอยระดับน้ำ หลุมยุบ และการแตกของผนัง 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

สิ่งมีชีวิต
     อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่พบ คือ ตะเคียน ไม้ตระกูลยาง ไม้ตระกูลไม้ก่อ ยมหอม อบเชย ดีหมี ฯลฯ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบเห็น คือ ประดู่ มะค่าโมง แดง อ้อยช้าง ชิงชัน ไผ่ชนิดต่าง ๆ ตุ้มกว้าว อุโลก สะแก และหญ้าแพก เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบได้แก่ กระทิง หมูป่า ลิง เม่นใหญ่ ตุ่น อีเห็น อ้น กระต่ายป่า แย้ กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า งู กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก และนกนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดต่าง ๆ หลายชนิด

1. การสำรวจพรรณพืช
     พื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นที่ลาดชันที่มีพืชพันธุ์ดั้งเดิมเติบโตอยู่ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้ไม่ค่อยหนาแน่นมาก เรือนยอดโปร่ง ทำให้แสงแดดสามารถส่องผ่านลงมาถึงพื้นล่างได้มาก พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ผลัดใบและไผ่ซาง ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 72 ต้น โดยต้นไม้ทั้งหมดสามารถระบุชนิดพันธุ์ได้ 34 ชนิด ไม่สามารถระบุชนิดพันธุ์ได้ 1 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ สัก (Tectona grandis) ยาง (Dipterocarpus sp.) (เหมือด) คน (Knema globularia) มะค่าโมง (Afzelia xylocarpa) และเพกา (Oroxylum indicum) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 94.91, 14.75, 13.29, 12.93 และ 10.40 ตามลำดับ (ตารางที่ 4-88)  พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 3-25 เมตร โดยพันธุ์ไม้ที่สูงที่สุด คือ ต้นยาง ส่วนพันธุ์ไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ต้นสัก จากตารางดัชนีค่าความสำคัญ  พบว่า ต้นสักซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เด่นที่สุดในพื้นที่นี้ เป็นชนิดพันธุ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป มีจำนวนมาก และมีขนาดใหญ่ที่สุด ในขณะที่ยางและคนเป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้น้อย แต่มีลำต้นขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ไม้อื่น ๆ จึงกลายเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเด่นเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำผาไทมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 3.15 ซึ่งมีค่ามากกว่าความหลากหลายทางชีวภาพของถ้ำเชียงดาวและถ้ำหลวงนางนอนที่มีค่า 2.99 และ 2.43 ตามลำดับ เนื่องจากพันธุ์ไม้แต่ละชนิดในบริเวณนี้มีการกระจายพันธุ์ได้ดีและสม่ำเสมอกว่า รวมถึงมีจำนวนชนิดพันธุ์ที่มากกว่าอีก 2 พื้นที่

2. สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำ
     อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ยังคงมีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังพอ สมควร แต่เนื่องจากช่วงที่ลงไปสำรวจพื้นที่เป็นช่วงฤดูแล้ง (เดือนมีนาคม) ซึ่งเริ่มปรากฎไฟไหม้พื้นที่ป่าอยู่ประปราย รวมมาถึงบริเวณใกล้พื้นที่ถ้ำ ดังนั้นสัตว์ป่าที่อยู่ภายนอกรอบ ๆ พื้นที่ถ้ำจึงพบได้ยาก
     ภายในถ้ำผาไทจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบว่า ในถ้ำผาไท มีค้างคาว อย่างน้อยประมาณ 3 ชนิด ที่อาศัยตามโถงต่าง ๆ ของถ้ำ นอกจากนี้ ยังพบงูที่อาศัยอยู่ในถ้ำที่ทำหน้าที่ล่าเหยื่อ โดยเฉพาะค้างคาว หรือสัตว์ ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในถ้ำ
     จากข้อมูลของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ระบุว่าชนิดของค้างคาวในถ้ำ ได้แก่

  • ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ ลักษณะเด่นของค้างคาวชนิดนี้คือ มีแผ่นหนังรอบจมูก 4 แผ่น ชอบกินแมลงปีกแข็ง เป็นอาหาร จำนวนประชากรในถ้ำผาไทจะพบไม่มากและไม่ตลอดทั้งปี ในฝูงหนึ่งจะมีอยู่ราว 200 ตัว สถานที่เกาะนอนประจำอยู่บริเวณหน้าวิมานหินย้อย ค้างคาวชนิดนี้เลี้ยงลูกได้เก่ง ไม่ค่อยพบว่าตกเป็นเหยื่อของงูมากนัก นาน ๆ จึงเสียท่างูจองผาสักครั้ง อาจเป็นเพราะมีจำนวนน้อย และมันเลือกเกาะในที่ที่งูเลื้อยขึ้นไปได้ยากลำบาก
  • ค้างคาวปีกถุงเคราดำ ชาวบ้านมักเรียกว่าค้างคาวลูกหนู ค้างคาวชนิดนี้กินแมลงเป็นอาหารเช่นกัน หางของมันจะยื่นออกมาจากพังผืดเห็นได้ชัดเจน ช่วยในการจับแมลง ในถ้ำผาไทพบกระจายอยู่ทั่วทั้งถ้ำพบตั้งแต่บริเวณหน้าปากถ้ำเข้าไปถึงข้างใน มีมากสุดที่บริเวณช่องไตรรังสี ซึ่งมันใช้เป็นช่องทางบินเข้าออกด้วย ช่วงที่มีมากสุดถึง 5,000 ตัวโดยประมาณ ค้างคาวชนิดนี้เป็นค้างคาวเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่มีนิสัยอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว เป็นปรากฏการณ์ประจำในวงรอบปีหนึ่ง ๆ เนื่องจากมีจำนวนประชากรมากทำให้มันไม่ค่อยสนใจการเลี้ยงลูกมากนัก จะพบได้บ่อยว่าเห็นลูกของมันตัวแดง ๆ ตกลงมาตามพื้นทางเดินทั่วไป ซึ่งโดยมากจะกลายเป็นอาหารของงูเสียทั้งหมด
  • ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่ ค้างคาวชนิดนี้ไม่ใคร่ได้พบเห็นกันบ่อยนัก มีอยู่ประมาณ 30 ตัวเท่านั้น บินไปมาได้ทั่ว บางครั้งพบมันเกาะกลุ่มกันอยู่ในถ้ำโจร บางครั้งพบแปรขบวนเป็นพวงผลไม้อยู่หน้าวิมานหินย้อย นิสัยทั่วไปไม่ค่อยกลัวคนลักษณะเด่นคือหูจะยาวแต่ตัวจะเล็ก อาหารที่กินคือ ลูกนกลูกหนู เขียด กิ้งก่า หรือลูกค้างคาวชนิดอื่น โดยเมื่อเวลาที่กินเหยื่อเสร็จแล้ว ก็จะทิ้งซากเป็นเศษปีกที่เหลือกองหล่นอยู่ตามพื้นถ้ำ

ประเภทการใช้ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
     การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบถ้ำเชียงดาว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ นอกนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชาวบ้านเพียงเล็กน้อย และไม่พบกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อถ้ำผาไท อย่างไรก็ดีเนื่องจากสภาพป่าโดยรอบเป็นป่าผลัดใบซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงได้ดีในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้นจึงควรต้องมีการเฝ้าระวังในการเกิดไฟไหม้ป่า ในช่วงฤดูแล้ง 

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

     ภายในถ้ำเป็นโถงขนาดใหญ่เกิดจากภูเขาหินปูนอายุไม่น้อยกว่าเก้าล้านปี ความลึกจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 1,150 เมตร ภายในถ้ำมีค้างคาวจำนวนมากอาศัยอยู่ บริเวณใกล้เคียงมีถ้ำโจรและถ้ำเสือที่มีประวัติเก่าแก่ สามารถเดินถึงได้จากถ้ำผาไท ถ้ำโจร เป็นถ้ำขนาดเล็กมี 3 ห้อง งดงามด้วยม่านหินย้อยในแต่ละโถงถ้ำ เล่ากันว่าอดีตเคยเป็นที่อาศัยของโจรมาก่อน

โครงการพัฒนา

การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน

1. แผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำ
     ขณะนี้ทาง อุทยานแห่งชาติฯ มีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่างภายในถ้ำ พวกอำนวยความสะดวกแก่ นักท่องเที่ยว ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทางอุทยานฯ ได้ใช้วิธีการปั่นไฟ แต่ขณะนี้ เครื่องปั่นไฟได้ชำรุด จึง ต้องให้เจ้าหน้าที่นำเที่ยว ใช้ไฟฉายขึ้นมาบริการนักท่องเที่ยว

2. การมีส่วนร่วมของชุมชน 
     ทางอุทยานฯ เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในเรื่องการอบรมมัคคุเทศน์น้อยในท้องถิ่น แต่เมื่องบประมาณจบสิ้นลง และ ผู้ได้รับการฝึกอบรม ขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีมัคคุเทศน์ ในท้องถิ่น ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จะเป็นผู้นำชมถ้ำเอง

3. สถิตินักท่องเที่ยวถ้ำผาไท
     จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมถ้ำมีพอสมควรแต่หากทางอุทยานฯ ได้มีการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวถ้ำผาไทให้มีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การให้ ความรู้ กับเด็กในท้องถิ่น และให้เกิดความต่อเนื่อง จน ชาวบ้านสามารถเข้ามาช่วยบริหารจัดการได้ และควรเพิ่มเนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับระบบถ้ำ ที่ถูกต้อง เพื่อให้ นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และเพลิดเพลิน ขณะมาเที่ยวชม

4. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการถ้ำ
     เนื่องจากถ้ำผาไท เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันถ้ำผาไท ก็ มีข้อเด่นในเรื่องระบบถ้ำหลายอย่างเช่นกัน ดังนั้น กรมอุทยานฯ จึงควรที่จะต้องเพิ่มพูนความรู้ให้ กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบ และร่วมมือกับสถาบันที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบถ้ำ เพื่อที่จะถ่ายทอดให้ผู้มาเยือนได้รับทราบคุณค่าของถ้ำ นอกจากนี้ ทางอุทยานฯ กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือโรงเรียนต่าง ๆ ช่วยกันศึกษาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงอื่น ๆ เพื่อที่จะแนะนำกับนักท่องเที่ยว ได้ การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แบบห่วงโซ่ จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ท้องถิ่น และสร้างความหลากหลายในการท่องเที่ยวก็จะเป็นเหตุจูงใจเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวได้

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

     เนื่องจากตัวถ้ำผาไท ตั้งอยู่ใกล้กับที่ตั้งของอุทยานถ้ำผาไท ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จึงมีพอสมควร ได้ แก่ สภาพถนนที่ดี และทางเดินที่ทำเป็นขั้นบันได ถึงบริเวณหน้าปากถ้ำ ลานจอดรถ ร้านสวัสดิการของอุทยานฯ เป็นต้น

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
- ไม่มีข้อมูล -