สถานที่ตั้ง

จังหวัด อุดรธานี อำเภอ อำเภอบ้านผือ ตำบล เมืองพาน 41160

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

        แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานฯภูพระบาทกระจายออกเป็นพื้นที่กว้าง เป็นกลุ่มเพิงหินมีลักษณะรูปดอกเห็ดหรือรูปร่างอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นสถานที่ให้มนุษย์ตั้งแต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาพร้อมกับถ่ายทอดอารมณ์ออกมาเป็นภาพเขียนฝาผนัง และให้มนุษย์สมัยประวัติศาสตร์ได้ดัดแปลงใช้เป็นศาสนสถาน โดยสกัดเอาเนื้อหินส่วนที่เป็นฐานของร่มเห็ดออกให้เป็นช่องโล่งกว้าง ทิ้งบางส่วนไว้ให้เป็นเสาค้ำยันส่วนหลังคา มีชื่อเรียกต่างๆ กันว่า หอนางอุสา กู่นางอุสา คอกม้าท้าวบารส ถ้ำพระ วัดพ่อตา วัดลูกเขย คอกม้าน้อย ฯลฯ มีการสลักหินเป็นภาพพระพุทธรูป สกัดพื้นพลาญหินให้เป็นร่องโดยรอบเพิงหินธรรมชาติเพื่อใช้เป็นที่ตั้งใบเสมาหิน และมีการขุดพื้นหินให้เป็นบ่อขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 5 เมตร ขอบบ่อสูงจากลานหินประมาณ 1 เมตร เรียกว่า บ่อน้ำนางอุสา อย่างไรก็ตามมีบ่อน้ำรูปกลมอยู่หลายแห่งในบริเวณอุทยานฯภูพระบาทเป็นบ่อเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเรียกว่า กุมภลักษณ์ (Pot hole) โดยเกิดจากก้อนกรวด ก้อนหิน เม็ดทราย ที่กระแสน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากพัดพามาตกหมุนวนอยู่ในแอ่งเล็กๆ บนพลาญหิน กัดให้แอ่งเป็นหลุมใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น และลึกเว้าจนเป็นรูปก้นหม้อหรือรูปกระบอก กุมภลักษณ์ที่นี่ส่วนมากมีขนาดใหญ่ใช้เป็นที่ปลูกบัว และบางแห่งใช้เป็นบ่อเก็บน้ำของวัดไปก็มี (ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี)

       (เมย. ๒๕๖๘)  หอนางอุสา” ศาสนสถานสำคัญรูป “ดอกเห็ด” แห่งภูพระบาท แหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 ของไทย

เทือกเขาภูพาน ที่ทอดตัวยาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 8 ของไทย ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ต. เมืองพาน อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี ซึ่งหนึ่งในแลนด์มาร์กภายในอุทยานฯ คือ “หอนางอุสา” โดดเด่นด้วยรูปทรงคล้ายดอกเห็ดที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ และผู้คนในสมัยก่อนก็ดัดแปลงพื้นที่ให้สามารถใช้งานสอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนา ได้อย่างน่าทึ่ง“เทือกเขาภูพาน” แหล่งศาสนสถาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยา เล่าถึงเทือกเขานี้กับการเป็นศาสนสถานไว้ในบทความ “ภูพานมหาวนาสี” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552   เทือกเขาดังกล่าวเป็นเทือกเขาหินทราย ทำให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งศาสนสถาน เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีน้ำขังอยู่ใต้ดินและใต้พื้นหิน คุณสมบัติของหินทรายเป็นหินที่ไม่มีธาตุหินปูนเจือปน ทำให้น้ำกินน้ำใช้เกิดตะกอนเป็นหินงอกเช่นเขาหินปูนทั้งหลาย“ขณะเดียวกันหินทรายก็ง่ายต่อการสึกกร่อนเป็นร่องเป็นรู เป็นบ่อน้ำหนองน้ำได้ง่าย ยิ่งกว่านั้นการสึกกร่อนที่เกิดจากการกระทำของฝนและลมก็ทำให้เกิดโขดหิน เพิงหินที่สามารถดัดแปลงให้เป็นที่พำนักตามธรรมชาติแก่คนที่ผ่านไปมาหรือต้องการที่จะตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยได้   พื้นที่นี้เป็นลานกว้างมีร่องน้ำผ่าน เหมาะสมกับการรวมกลุ่มของคนที่มาทำพิธีกรรม และมีโขดหินเพิงหินหอนางอุสา มีลักษณะเป็นพระสถูป ที่น่าจะมีการประดิษฐานสิ่งเคารพบนเพิง และมีการสลักรูปพระพุทธรูปรอบเพิงตอนบน ตัวหอล้อมรอบด้วยเสมาหินทรงสูงทั้ง 8 ทิศ แสดงปริมณฑลของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์    

จากหอมีร่องน้ำผ่ากลาง และเมื่อข้ามไปแล้วก็เข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ปฏิบัติและทำพิธีกรรมของพระสงฆ์และนักพรต อาจเรียกรวมๆ ได้ว่า เป็นพื้นที่ของสังฆาวาส มีเพิงหินใหญ่น้อยหลายแห่งที่มีเสมาหินปักรอบ

ด้านตะวันออกของแหล่งพิธีกรรมเป็นกลุ่มเพิงผา ที่มีการปรับให้เป็นทั้งที่อาศัยและประกอบพิธีกรรมของผู้ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะตั้งอยู่ใกล้ทางลาดลงไปยังแหล่งน้ำ ประกอบด้วยโขดหินและเพิงหินที่มีภาพสลักของพระพุทธรูปยืน พระพุทธรูปนั่ง และแท่นยกพื้น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งภาพสลักเหล่านี้แสดงรูปแบบทางศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลายและศิลปะขอม กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ลงมา

“สิ่งที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของภาพสลักพระพุทธรูปยืนรอบโขดหินนี้ก็คือ พระพุทธรูปยืนบางองค์สลักเป็น ‘ปางเปิดโลก’ ซึ่งต่อมาคืออัตลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธรูปสมัยล้านช้าง” ในบทความ  ความสำคัญของภูพระบาทที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนา มาอย่างยาวนานนับพันปีเช่นนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นแท่นเป็นมรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย

ตำนานความเชื่อ

 



        ตำนานรักนางอุสา-พระบารส ตำนานเล่าว่ามีเจ้าเมืองพานมีธิดาชื่อ นางอุสา ได้ส่งไปเล่าเรียนวิชาความรู้กับฤๅษีในป่าและได้สร้างหอให้นางอุษาอยู่อย่างลำพังโดดเดี่ยวชาวบ้านเรียกว่า หอนางอุสา ต่อมานางจึงได้ร้อยมาลัยเป็นรูปหงส์ และสลักในกลีบดอกไม้และอธิษฐานว่าใครเป็นคู่ครองนางขอให้เก็บพวงมาลัยนี้ได้ ปรากฏว่า ท้าวบารส โอรสแห่งเมืองพระโค เก็บพวงมาลัยนี้ได้เกิดรักใคร่นางอุสาขึ้นทันใด ออกตามหานางอุษาไปจนถึงหอนางอุสา และผูกม้าไว้ที่เพิงหินที่ชาวบ้านเรียกกันว่า คอกม้าท้าวบารส ทั้งสองได้ครองรักกัน เมื่อพระยาพานทราบข่าวโกรธมาก จึงออกอุบายว่าให้สร้างวัดแข่งกันก่อนที่ดาวประกายพรึกจะขึ้น ท้าวบารสก็รับคำท้า และเร่งสร้างวัดแข่งกับพระยาพานแต่ด้วยกำลังคนจึงคิดว่าสร้างไม่ทันแน่นอนจึงออกอุบาย จุดเทียนบนยอดเขาเพื่อให้พระยาพานเข้าใจผิด สุดท้ายพระยาพานเป็นผู้แพ้จึงตัดเศียร แต่พระยาพานก็ฟื้นขึ้นมาอีก เกิดสู้รบกันพระยาพานถูกฆ่าสิ้นพระชนม์ นางอุสาเสียใจมากจากนั้นได้เดินทางกลับไปเมืองพระโคถูกมเหสีทั้ง 10 พระองค์กลั่นแกล้งออกอุบายให้ท้าวบารสออกไปสะเดาะเคราะห์ในป่า 1 ปี นางอุสารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจึงได้หนีมาอยู่ที่หอในป่าและตรอมใจตาย ส่วนท้าวบารสทราบข่าวก็ออกตามมาที่หอและตรอมใจตามนางอุสาไป บริเวณโดยรอบยังปรากฏเพิงหินรูปร่างแปลกตาอีก เช่น หีบศพนางอุสา กี่นางอุสา

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

       อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทพบร่องรอยทางอารยธรรมของมนุษย์สมัยโบราณบนภูแห่งนี้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบมาถึงวัฒนธรรมสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยล้านช้าง และสมัยรัตนโกสินทร์ตามลำดับ กำหนดอายุราว 3,000–2,500 ปีก่อนประวัติศาสตร์มาแล้ว ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี เช่น การใช้สีแดงเขียนภาพสีภาพสลักบนผนังถ้ำซึ่งพบมากกว่า 54 แห่งการสลักหินรูปประติมากรรมพระพุทธรูปและเทวรูป การก่อสร้างศาสนสถานสมัยทวารวดีด้วยอิฐ เช่น ถ้ำพระ พระพุทธบาทบัวบก อาคารรอบพระพุทธบาทหลังเต่า รอยพระพุทธบาทสมัยทวารวดีและล้านช้าง การดัดแปลงเพิงผาธรรมชาติ เช่น หอนางอุสา ใบเสมาหินขนาดใหญ่ ภาพแกะสลักนูนต่ำ เป็นต้น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นสิ่งก่อสร้างด้วยฝีมือมนุษย์

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่าป่าเขือน้ำ ท้องที่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 67 กิโลเมตร

      เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมาวัดพระพุทธบาทบัวบานเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยใช้ชื่อว่า ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี (อังกฤษ: Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

        ลานหินและเพิงหินในบริเวณภูพระบาทจัดอยู่ในหมวดหินภูพานของกลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเซียส ประกอบด้วยหินทรายชั้นหนาและหินทรายปนกรวด ชั้นเฉียงระดับพบได้ทั่วไป ส่วนประติมากรรมทางธรณีวิทยาเกิดตากการกัดเซาะผุพังของชั้นหินทรายทีมีเนื้อหินแตกต่างกัน โดยหินส่วนที่มีความคงทนสูงจะยื่นออกมาเป็นเพิงหิน หรือเป็นชั้นหินทับอยู่ข้างบน ส่วนชั้นหินที่มีความคงทนน้อยว่าจะกร่อนหายไป หรือกัดเซาะผุพัง หรือเป็นส่วนคอดเว้าอยู่ใต้ชั้นหินแข็ง กลายเป็นเพิงหินหรือผาหิน

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

        เนื่องจากอยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานประวัติศาสตร์ทำให้มีสภาพภูมิทัศน์สวยงามตกแต่งกลมกลืนกับธรรมชาติ แบ่งจุดการเข้าถึงได้อย่างน่าสนใจ

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

        พืชพรรณ ป่าเต็งรัง
 

ประเภทการใช้ประโยชน์

        การท่องเที่ยวและนันทนาการ  ศึกษาความรู้ด้านธรณ๊สัณฐานและภูมิลักษณวรรณา

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

        บริเวณส่วนบริการ ศูนย์บริการข้อมูลภูพระบาท มีการออกแบบอาคารภูมิทัศน์และป้ายสื่อความหมายให้เข้ากับบริบทโดยรอบได้ดี แต่การเลือกใช้พรรณไม้ยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะนำไม้ต่างถิ่นเข้ามาใช้ ในส่วนทางเดินได้มีการทำร่องน้ำด้านข้างเพื่อระบายน้ำและช่วยลดการพังทลายของหน้าดินได้

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา
คุณค่าการใช้ประโยชน์
- ไม่มีรูปภาพ -
คุณค่าความสำคัญ
- ไม่มีรูปภาพ -
ผลกระทบที่พบเห็น
- ไม่มีรูปภาพ -
ลักษณะทั่วไป
- ไม่มีรูปภาพ -
สิ่งอำนวยความสะดวก
หัวหน้า
- ไม่มีรูปภาพ -
อื่นๆ
- ไม่มีรูปภาพ -
เจ้าหน้าที่
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนที่
- ไม่มีข้อมูล -