สถานที่ตั้ง

จังหวัด สงขลา อำเภอ อำเภอเมืองสงขลา ตำบล บ่อยาง 90000

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ภูเขา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

เขาตังกวน เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมในตัวเมืองสงขลา ทางไปแหลมสนอ่อน บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ในเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์ ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว และยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทิวทัศน์สองทะเล คือทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา และก่อนถึงยอดเขาตังกวนจะมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น สร้างพลับพลานี้ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2431 บริเวณด้านล่างเขาตังกวนมีลิงอาศัยอยู่จำนวนมากเนินเขากลางชุมชนที่มีลิงแสมอาศัยอยู่จำนวนมาก และเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา

ตำนานความเชื่อ

นานมาแล้วมีพ่อค้าจีนคนหนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางค้าขอบแถบชายทะเลจากเมืองจีนถึงเมืองสงขลา เมื่อขายสินค้าจนหมดแล้วก็ซื้อสินค้าจากสงขลาบรรทุกสำเภากลับไปขายเมืองจีน ปฏิบัติอยู่เช่นนี้เป็นนิจ วันหนึ่งเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็เข้าเมืองสงขลา เพื่อซื้อสินค้ากลับไปขายเมืองจีน ระหว่างที่เดินซื้อสินค้าอยู่พ่อค้าได้เห็นหมากับแมวคู่หนึ่งมีรูปร่างน่าเอ็นดู จึงขอซื้อหมากับแมวคู่นั้นเอาลงเรือไปด้วย ฝ่ายหมากับแมวเมื่อลงไปอยู่ในเรือนานๆ ก็เกิดความเบื่อหน่าย และอยากจะกลับไปอยู่บ้านที่สงขลาจึงปรึกษากันหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมาได้บอกกับแมวว่าพ่อค้าเรือสำเภานั้นมีดวงแก้ววิเศษสำหรับการจมน้ำ หากใครได้ไว้จะว่ายน้ำไปไหนๆ ก็ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายที่จะได้ดวงแก้ววิเศษนั้น โดยไปข่มขู่หนูให้ขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามาให้ โดยที่หนูขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ครั้งเรือเดินทางมาถึงเมืองสงขลาอีกครั้งหนึ่ง หนูก็ลอบเข้าไปขโมยดวงแก้ววิเศษของพ่อค้าโดยอมเอาไว้ในปาก แล้วทั้งสามหนีลงเรือว่ายน้ำจะไปขึ้นฝั่งหน้าเมืองสงขลา ขณะที่ว่ายน้ำมาด้วยกัน หนูซึ่งว่ายอยู่ข้างหน้าก็นึกขึ้นได้ว่าดวงแก้วที่ตนอมเอาไว้ในปากนั้นมีค่ามหาศาล เมื่อถึงฝั่งหมากับแมวก็คงแย่งเอาไป จึงคิดที่จะหนีหมากับแมวขึ้นฝั่งตามลำพัง จะได้ครอบครองดวงแก้วเป็นสมบัติของตนตลอดไป แต่แมวซึ่งว่ายน้ำตามหลังหนูมาก็คิดอย่างเดียวกันกับที่หนูคิด ก็ว่ายน้ำตรงรี่เข้าไปหาหนู ฝ่ายหนูเห็นแมวตรงเข้ามาก็ตกใจ นึกว่าแมวเข้ามาจะตะปบจึงว่ายน้ำหนีสุดแรง และไม่ทันระวังตัวดวงแก้ววิเศษที่อมไว้ในปากก็ตกลงจมหายไปในน้ำ เมื่อดวงแก้วจมน้ำแล้วทั้งหนูและแมวต่างก็หมดแรงไม่อาจจะว่ายน้ำต่อไปได้ สัตว์ทั้งสองจึงจมน้ำตายกลายเป็น “เกาะหนูเกาะแมว” อยู่ที่อ่าวหน้าเมืองสงขลา ส่วนหมาก็ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่งด้วยความเหน็ดเหนื่อยหมาจึงขาดใจตายกลายเป็นหินเรียกว่า “เขาตังกวน” อยู่ริมอ่าวสงขลา ส่วนดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูก็แตกละเอียดเป็นหาดทรายเรียกกันว่า “หาดทรายแก้ว” อยู่ทางด้านเหนือของแหลมสนยื่นออกไปในอ่าวสงขลา

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมือง สงขลาซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ได้พระราชทานเงินหลวงให้เป็นทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (ร.9) ได้ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้มาบรรจุในองค์พระเจดีย์ ส่วนยอดเขาน้อยทางทิศใต้ เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ายุคล ทิฆัมพร(กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) เมื่อครั้งมาดำรงตำแหน่งสมเด็จอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ เคยใช้เป็นที่ ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถฯ ในคราวเสด็จเยี่ยม ราษฎรในจังหวัดภาคใต้ เมื่อเดือนมีนาคม 2502 ปัจจุบันใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัด

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

ธรณีวิทยา    หินเขาเจ้า (CPkc) ประกอบด้วย หินทรายเนื้ออาร์โคส สีขาวถึงสีเทาจาง การคัดขนาดดี เนื้อปานกลาง แสดงลักษณะเป็นชั้นบาง
ลักษณะภูมิประเทศ    ภูเขาเล็กๆ จำนวน 2 ลูก คือ เขาน้อย และเขาตังกวน ยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 60 และ 80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตามลำดับ อยู่ใกล้กับแหลมสมิหลา 
ดิน    ดินภูเขา บางส่วนมีการสร้างทางเดินคอนกรีตทับ
น้ำ    -
ขยะ    ขยะจากนักท่องเที่ยว และจากลิงแสมที่รื้อค้นถังขยะ
ภูมิทัศน์    เป็นเนินเขาสูง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้โดยรอบ ส่วนเชิงเขาน้อยทาง ทิศตะวันออกจัดเป็นสวนสาธารณะไว้สำหรับพักผ่อน มีร้านอาหารบริการพร้อมสนามเทนนิส เชิงเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสวนเสรี มีไม้ประดับตกแต่งเป็น รูปสัตว์ต่างๆ

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

พืชพรรณ    ลักษณะสังคมป่าดิบชื้น
สัตว์ป่า    ลิงแสม

ประเภทการใช้ประโยชน์

สถานที่ท่องเที่ยวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศึกษาประวัติศาสตร์ ประภาคารและจุดชมวิวเมืองสงขลา

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

มีการเข้าถึงได้สะดวกจากถนนใหญ่สภาพพื้นที่มีการพัฒนาในส่วนบริการ บันได สถานีลิฟต์ สวนหย่อม ศาลา ห้องน้ำ ร้านสิ้นค้าที่ระลึก และทางเดิน พื้นที่โดยรอบเป็นชุมชน

โครงการพัฒนา

-

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

ลานจอดรถ ทางเดิน  บันได สถานีลิฟต์ สวนหย่อม ถังขยะ ห้องน้ำ เก้าอี้ และศาลา

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทภูเขา
คุณค่าการใช้ประโยชน์
- ไม่มีรูปภาพ -
คุณค่าความสำคัญ
- ไม่มีรูปภาพ -
ผลกระทบที่พบเห็น
- ไม่มีรูปภาพ -
ลักษณะทั่วไป
- ไม่มีรูปภาพ -
สิ่งอำนวยความสะดวก
- ไม่มีรูปภาพ -
หัวหน้า
- ไม่มีรูปภาพ -
อื่นๆ
- ไม่มีรูปภาพ -
เจ้าหน้าที่
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนที่
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -