ถ้ำ กลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ th.naturalsites2018@gmail.com 13-06-2022 16:01:39 ถ้ำ 1 ความคิดเห็น 1 ผู้ติดตาม

การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทถ้ำ

       “ถ้ำ (Cave)” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง เกิดจากการกระทำของน้ำใต้ดินที่กระทำต่อภูมิประเทศที่ประกอบด้วยหินปูน ถ้ำมีลักษณะเป็นช่องที่มีโพรงลึกเข้าไปในพื้นดินหรือภูเขา มีขนาดพอให้มนุษย์สามารถเข้าไปได้ โดยมีทั้งที่เป็นถ้ำหินปูน ซึ่งเกิดจากการทำละลายหินปูน มีองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น หินงอก หินย้อย เสาหิน ม่านหินปูน ทำนบหินปูน หลอดหิน และไข่มุกถ้ำ และถ้ำหินชายฝั่งทะเล ซึ่งการกัดเซาะของคลื่นทำให้เกิดลักษณะของภูมิประเทศที่สำคัญ เช่น ถ้ำหินชายฝั่ง และสะพานหินธรรมชาติ เป็นต้น บางครั้งในถ้ำอาจมีลำน้ำใต้ดินไหลผ่าน (Underground Drainage) โดยถ้ำมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (2528) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2560))

          เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ จำนวน 263 แห่ง โดยจำแนกออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่ ถ้ำ ภูเขา น้ำตก ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา โป่งพุร้อน เกาะ แก่ง ชายหาด แหล่งน้ำ และซากดึกดำบรรพ์ โดยในการพิจารณาเบื้องต้นแหล่งจะต้องผ่านเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ 1) เป็นเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่น 2) มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือนิทานพื้นบ้าน 3) มีประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์หรือโบราณคดี 4) เป็นโครงสร้างทางธรรมชาติที่ดี หายากหรือเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม และ 5) เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นที่เคารพบูชา ซึ่งแหล่งธรรมชาติเหล่านี้มีคุณค่าความสำคัญทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ เชิงระบบนิเวศ และเชิงคุณภาพทางสังคม อาทิ วิทยาการ สุนทรียภาพ ตลอดจนเป็นเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ โดย นอกจากนี้ ถ้ำบางแห่งยังมีคุณค่าความสำคัญทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ปูชนียสถาน ศาสนา วัฒนธรรมโบราณ และภาพเขียนสี เช่น ถ้ำฤาษี จังหวัดราชบุรี ถ้ำพระเขาคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง และถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ถ้ำที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนฯ มีทั้งหมด 43 แห่ง ใน 28 จังหวัด

          ถ้ำถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง อาทิ ด้านการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สร้างรายได้ให้กับชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากถ้ำอาจก่อให้เกิดผลกระทบและเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศถ้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น การขีดเขียนผนังถ้ำ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม และการบึกรุกยึดครองพื้นที่และต่อเติมตัวถ้ำ เป็นต้น ถ้ำในประเทศไทยหลายแห่งยังไม่ได้รับการดูแลและพัฒนาที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของถ้ำเท่าที่ควร อีกทั้งบางพื้นที่ยังขาดการวางแผนการจัดการพื้นที่ จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ ยากที่จะฟื้นคืนระบบนิเวศถ้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ดังนั้น ในการอนุรักษ์และพัฒนาถ้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จำเป็นต้องอยู่อาศัยหลักการการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติ รวมถึงต้องมีการวางแผนการจัดการพื้นที่ฯ ให้ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศถ้ำ

          การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทถ้ำ เป็นเครื่องมือและกลไกเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทถ้ำ ในการนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการวางระบบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาตินั้นเป็นการวางระบบภายใต้หลักการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตามหลักการของแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 ได้กำหนดการแบ่งเขตกิจกรรมในการใช้ประโยชน์พื้นที่ (Zoning) ออกเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่สงวน (Preservation Area) พื้นที่อนุรักษ์ (Conservation Area) และพื้นที่บริการและการจัดการ (Service and Management Area) หรือพื้นที่พัฒนา (Development Area) เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม ตลอดจนเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและการควบคุมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ทั้งนี้ ในการกำหนดเขตการใช้พื้นที่ดังกล่าวหรือเพิ่มเติมเขตพื้นที่ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะพิเศษของพื้นที่ รวมถึงข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติประเภทถ้ำ ของพื้นที่นั้น ๆ โดยมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคส่วนที่ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความเป็นเจ้าของมรดกทางธรรมชาติของท้องถิ่นร่วมกัน อันนำไปสู่การสร้างความสมดุลและความยั่งยืนทางภูมินิเวศ ภูมิสังคม และภูมิวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ ทั้งนี้ ถ้ำ ที่มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่ฯ อาทิ ถ้ำน้ำลอด จังหวัดแม่ฮ่อนสอน ถ้ำเมืองออน จังหวัดเชียงใหม่ ถ้ำหลวงนางนอน จังหวัดเชียงราย ถ้ำเอราวัณ จังหวัดหนองบัวลำภู และถ้ำภูผาเพชร จังหวัดสตูล

          ระบบ “ฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ” เป็นการบูรณาการฐานข้อมูลแหล่งธรรมชาติของประเทศ เป็นการรวมข้อมูลให้อยู่ในระบบฐานเดียวกัน ป้องกันข้อมูลสูญหาย และมีการพัฒนาเพื่อนำเข้าข้อมูลในระบบฐานข้อมูลเผยแพร่ไปยังเว็บไซต์ naturalsite.onep.go.th เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง และทันสมัยอยู่ตลอดเวลามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกในการสืบค้น และประชาชน เยาวชน และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งเพื่อการศึกษาเรียนรู้ วางกรอบและแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติ รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลให้มีความถูกต้องและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการประเมินคุณภาพ ศักยภาพ และความเสี่ยงของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ ในระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ภายใต้เกณฑ์การประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทถ้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเกณฑ์การประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทน้ำตก ภูเขา ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 เกณฑ์การประเมินฯ ประกอบด้วยเกณฑ์ 4 ด้าน ได้แก่ องค์ประกอบและสิ่งแวดล้อม  องค์ประกอบภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรม  องค์ประกอบผลผลิตจากการบริการสิ่งแวดล้อมของถ้ำ/น้ำตก/ภูเขา/ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา และองค์ประกอบการบริหารจัดการ

         

1 ความคิดเห็น
ความคิดเห็น : 1
เห็นด้วยกับการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติประเภทถ้ำ ที่เป็นกลไก หรือเครื่องมือประเภทหนึ่งในการบริหารจัดการพื้นที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ประเภทถ้ำ หรือประเภทอื่นที่มีอยู่ ส่งผลให้หน่วยงานรับผิดชอบ ได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินฯได้อย่างต่อเนื่อง ทราบถึงการเปลี่ยนแปลง หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อแหล่งได้ และพร้อมที่จะแก้ไข หรือป้องกันกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย .... ขอให้มีบทความแนวทางการอนุรักษ์ประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม อีกด้วยนะคะ