สถานที่ตั้ง

จังหวัด ชลบุรี อำเภอ อำเภอสัตหีบ ตำบล บางเสร่ 20250

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

เขาชีจรรย์เป็นเขาลูกหนึ่งในกลุ่มเขาที่อยู่ใกล้ ๆ กัน รวม 3 ลูก เมื่อมองจากถนนเข้าสู่กลุ่มเขา เขาชีจรรย์จะมีลักษณะคล้ายกรวยคว่ำ ทรงยอดแหลม มีความสูงจากพื้นดิน 180 เมตร หรือ สูงจากระดับน้ำทะเล 248 เมตร ไหล่เขาทางด้านเหนือหรือด้านที่มองจากถนน เคยเป็นสถานที่ที่มีการระเบิดหินเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างมาก่อน จึงเปิดให้เห็นเนื้อหิน เป็นหน้าผาค่อนข้างเรียบจนถึงยอดเขา บนหน้าผามีรูปแกะสลักหินเป็นพระพุทธรูปลายเส้น รูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย เลียนแบบพระพุทธนวราชบพิตร ศิลปะสุโขทัยผสมล้านนา ขนาดความสูง 109 เมตร หน้าตักกว้าง 70 เมตร มีฐานบัวสูง 21 เมตร รวมความสูงทั้งหมด 130 เมตร โดยลายเส้นแกะสลักลงในเนื้อหินเป็นร่องลึก ขนาดความกว้าง 30-40 เซนติเมตร ลึก 10 เซนติเมตร ฝังด้วยกระเบื้องโมเสกสีทองเต็มร่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช ทรงพระราชทานนามว่า พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา ซึ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัด บนหน้าผาจากระยะไกล จัดเป็นพระพุทธรูปแกะสลักในลักษณะพระพุทธฉายที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระนาม พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา มีความหมายว่า พระพุทธเจ้า ทรงเป็นศาสดาที่รุ่งเรือง สว่าง ประเสริฐดุจดังมหาวชิระ พระพุทธรูปองค์นี้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ 9 ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองศิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ปัจจุบันเขาชีจรรย์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

ประกอบด้วยหินปูนรอยริ้ว (Cleaved limestone) โดยเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนปูนในทะเลตื้นเมื่อประมาณ 280 ล้านปีมาแล้ว หินปูนรอยริ้วนี้ ได้รับอิทธิพลความร้อนจากหินแกรนิตยุคไทรแอสซิก ที่แทรกดันตัวอยู่ข้างใต้และข้างเคียง ทำให้เกิดมีกลุ่มแร่แคลก์ซิลิเกต (Calc - silicate) สีขาว ม่วงน้ำตาล และสีเขียว เรียงตัวเป็นแนวยาวขนานกับรอยริ้วในหินปูน ใกล้กับแนวสัมผัสของหินปูนกับหินแกรนิต จะพบว่ามีกลุ่มแร่สีขาวของแร่โวลลาสโทไนต์ (Wollastonite) เกิดขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้อิทธิพลดังกล่าว ยังทำให้หินปูนรอยริ้ว เกิดการคดโค้ง บิดงอ และเกิดรอยแตก รอยแยก ที่มีความชัน 50-70 องศา ปรากฏทั่วไปตามหน้าผา

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

ภูมิทัศน์โดยรอบได้รับการปรับแต่งโดยการจัดเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว บริเวณใกล้เคียงมีการทำอุตสาหกรรมระเบิดหิน

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

พืชพรรณ พุ่มไม้เล็กๆแคระแกรนบนเขา

สัตว์ป่า ไม่พบข้อมูล

ประเภทการใช้ประโยชน์

การท่องเที่ยวและนันทนาการ

พระพุทธศาสนา

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

-พื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ นำไม้ประดับจากต่างถิ่นเข้ามาใช้ประดับตกแต่งภูมิทัศน์ มีสนามหญ้าเปิดโล่งเพื่อเปิดมุมมองทัศนียภาพของพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผา สามารถมองเห็นพระพุทธรูปแกะสลักได้อย่างชัดเจน ทั้งในระยะใกล้และไกล รวมทั้งไม่ปลูกต้นไม้ที่มีขนาดสูงและใหญ่เกินไปที่จะบดบังพระพุทธรูป

- มีการแบ่งพื้นที่ตามกิจกรรมการใช้งานอย่างชัดเจน เช่น ลานสำหรับชมพระพุทธรูปแกะสลัก จุดถ่ายรูปที่สามารถมองเห็นพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจน อาคารอเนกประสงค์ พื้นที่พักผ่อน พื้นที่จอดรถ

- มีการใช้ป้ายเพื่อสื่อความหมาย และบอกทิศทางของตำแหน่งที่ตั้งสถานที่ต่างๆ เช่น มีป้ายบอกทิศทางที่จะเดินไปชมพระพุทธรูป ป้ายบอกประวัติความเป็นมา

ทัศนียภาพสวยงามสามารถมองเห็นพระพุทธรูปแกะสลัก และบริเวณใกล้เคียงมีไร่องุ่นและสวนดอกไม้ มีการพัฒนาปรับแต่ง

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา
ลักษณะทั่วไป
คุณค่าความสำคัญ
คุณค่าการใช้ประโยชน์
ผลกระทบที่พบเห็น
- ไม่มีข้อมูล -