สถานที่ตั้ง

จังหวัด เชียงราย อำเภอ อำเภอแม่ฟ้าหลวง ตำบล แม่ฟ้าหลวง 57240

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ภูเขา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วยพระบารมีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชาวเขาและชาวพื้นราบในบริเวณรายรอบดอยตุง ยอดสูงสุดของบนเทือกเขาดอยนางนอน พรมแดนไทย-พม่า

 

ตำนานความเชื่อ

-

ตามตำนาน มีว่า เดิมสถานที่ตั้งพระบรมธาตุดอยตุง มีชื่อว่า ดอยดินแดง อยู่บน เขาสามเส้น ของพวกลาวจก ต่อมาสมัยพระเจ้าอุชุตะราช รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัต ผู้ครองนครโยนกนาคนคร เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๕๒ พระมหากัสสป ได้นำพระบรมสารีริกธาตุในส่วนของพระรากขวัญเบื้องซ้าย (ไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้ามาถวาย ซึ่งตรงตามคำทำนายของพระพุทธองค์ว่า " ที่ดอยดินแดงแห่งนี้ ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในภายภาคหน้า"

พระเจ้าอุชุตะราช มีพระราชศรัทธา ได้เรียกหัวหน้าลาวจกมาเฝ้า พระราชทานทองคำจำนวนแสนกษาปณ์ ให้เป็นค่าที่ดินบริเวณดอยดินแดงแก่พวกลาวจก แล้วทรงสร้างพระสถูปขึ้น โดยนำธงตะขาบยาว ๓,๐๐๐ วา ไปปักไว้บนดอย เมื่อหางธงปลิวไปไกลเพียงใด้ ให้กำหนดเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ดอยดินแดงจึงได้ชื่อใหม่ว่า ดอยตุง (คำว่า ตุง แปลว่า ธง) เมื่อสร้างพระสถูปเสร็จ ก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวบรรจุไว้ให้คนสักการะบูชา

ต่อมาสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช แห่งราชวงศ์ลาวจก พระมหาวชิระโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย จำนวน ๕๐ องค์ พระเจ้าเม็งรายจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นอีกองค์หนึ่ง เหมือนกับพระสถูปองค์เดิมทุกประการ ตั้งคู่กัน ดังปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้ 
ชาวเชียงราย มีประเพณีการเดินขึ้นดอยบูชาพระธาตุ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี

พระธาตุดอยตุง ถูกกำหนดให้เป็นพระธาตุเจดีย์ของผู้ที่เกิดปีกุญ เนื่องเพราะปู่เจ้าลาวจกและพระยามังราย ต้นวงศ์กษัตริย์เชียงใหม่ต่างก็ประสูติใน "ปีกุญ"

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

-พระตำหนักดอยตุงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2530 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มี พระชนมายุ 88 พรรษา โดยก่อนหน้านั้นมีพระราชกระแสว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษา จะไม่เสด็จไปประทับที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ จึงได้เลือกดอยตุง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม ขณะเดียว กันสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อทรงทอดพระเนตรพื้นที่ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2530 ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้างบ้านที่ดอยตุงพร้อมกันนี้ ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะ ปลูกป่าบนดอยสูงจึงกำเนิดเป็น โครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น โครงการพัฒนาดอยตุงเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกส่วน เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน หน่วยงานด้านปกครอง นอกจากทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่แล้วยังมีการฝึกอาชีพ เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่าลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ขณะเดียว กันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

ธรณีวิทยา    ชั้นหินที่สำคัญในแนวนี้ประกอบด้วยหินยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน-คาร์บอนิเฟอรัส  
ลักษณะภูมิประเทศ    ดอยตุงเป็นยอดเขาสูง นับเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานางนอน ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง มีผืนป่าธรรมชาติประมาณ 93,515 ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,630 เมตร มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี
ดิน    สภาพพื้นที่มีความลาดชันตั้งแต่ 35 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ประกอบไปด้วยดินหลายชนิด มีทั้งดินลึกและดินตื้น     บางแห่งมีก้อนกรวดและก้อนหินปะปนอยู่ในเนื้อดิน หรือกระจัดกระจายอยู่ตามผิวดิน มีการระบายน้ำดี จนถึงมีการระบายน้ำมากเกินไป ลักษณะเนื้อดิน สีของดิน และปฏิกิริยาดินแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดหินที่เป็นต้นกำเนิดและอายุของดิน แต่โดยเฉลี่ยแล้วส่วนใหญ่จะเป็นดินค่อนข้างลึก มีสีค่อนไปทางแดง หรือแดงจัด ส่วนใหญ่เป็นดินในกลุ่ม Reddish Brown Lateritic Soils และ Red Yellow Podzolic Soils ในหน่วยแผนที่ดินนี้ได้รวมพื้นที่หินโผล่ โขดหิน หน้าผาชัน
น้ำ    ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติบนยอดดอย
ขยะ    ขยะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว แต่มีระบบการจัดการ โดยจัดเก็บและนำลงมาทิ้งด้านล่าง
ภูมิทัศน์    ภูมิทัศน์บนยอดดอยตุง สวยงาม และมีพันธุ์ไม้หลากชนิด โดยเฉพาะดอกไม้เมืองหนาว เนื่องจากมีการจัดสวนดอกไม้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว  ชื่อ สวนแม่ฟ้าหลวง และมีการจัดภูมิทัศน์โดยรอบสวยงาม เพื่อการท่องเที่ยว

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

พืชพรรณ    ลักษณะป่าเป็นสภาพป่าที่มีทิวสนทอดยาว
สัตว์ป่า    -

 

ประเภทการใช้ประโยชน์

มีการใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และศึกษาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของสมเด็จย่า

 

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

แต่ก่อนนั้นเส้นทางขึ้นดอยตุงเป็นเส้นทางลอยฟ้า คือเมื่อนั่งรถบนถนน ดอยตุง แล้วมองลงมาก็จะเห็นวิวโล่ง ๆ ไม่มีต้นไม้มาบดบังทัศนียภาพ แต่ในปัจจุบันนี้ดอยตุงกลับคืนสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อนั่งรถไปตามเส้นทางขึ้นดอยตุง จะเห็นแต่ต้นไม้แน่นขนัด ซึ่งล้วนเป็นป่าปลูกทั้งสิ้น หลังจากโครงการปลูกป่าแล้วเสร็จจึงได้มีการสร้าง พระตำหนักดอยตุง และมีโครงการอีกหลาย ๆ โครงการตามมาเพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น และจากเทือกเขาหัวโล้นกลับกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นที่สุดของเชียงราย แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยว ดอยตุงเป็นจำนวนมาก

โครงการพัฒนา

แผนงานการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน (ปี 2531 - 2533) เพื่อให้การพัฒนาดอยตุง  มีโครงการต่อเนื่องที่เป็นระบบ ประกอบด้วย                                  

  • โครงการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมภายในพื้นที่
  • โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค เพื่อการเกษตร
  • โครงการด้านไฟฟ้าและพลังงาน

 

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ลานจอดรถ ห้องน้ำ และตลาดเล็กๆ ริมทางที่มีชาวบ้านมาขายสินค้า

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทภูเขา
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -