สถานที่ตั้ง

จังหวัด กาฬสินธุ์ อำเภอ อำเภอสหัสขันธ์ ตำบล โนนบุรี 46140

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

        พิพิธภัณฑ์สิรินธร (ภูกุ้มข้าว) เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวไดโนเสาร์แบบครบวงจร ทั้งแสง สี เสียง ตระการตาและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ พบกระดูกไดโนเสาร์กินพืชมากกว่า ๖ ตัว มีกระดูกมากกว่า ๖๓๐ ชิ้น ภายในเวลาเพียง ๓ เดือน ซึ่งซากไดโนเสาร์นั้นมีขนาดใหญ่มีน้ำหนักและมีจำนวนมาก ทางฝ่ายโบราณชีววิทยา จึงได้จัดตั้งโครงการพัฒนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูกุ้มข้าวขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ –๒๕๔๘ กรมทรัพยากรธรณีได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้น เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร เพื่อบริการและเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน และเป็นสถานที่ใช้ศึกษา ค้นคว้าของนักวิชาการจากทั่วโลก ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์นี้ว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ขุดค้นซากไดโนเสาร์พบกระดูกมากกว่า ๗๐๐ ชิ้น เป็นกลุ่มของกระดูกส่วนขา สะโพก ซี่โครง คอ และหางของไดโนเสาร์กินพืชและกินเนื้ออีกอย่างละ ๒ ชนิด จากลักษณะของกระดูกพบว่า เป็นไดโนเสาร์กินพืชสกุลภูเวียง (Phuwiangosaurus sirindhornae) ๑ ชนิด และเป็นไดโนเสาร์กินพืชชนิดใหม่อีก ๑ ชนิด คาดว่าอาจเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก ดังนั้นเพื่ออนุรักษ์แหล่งซากไดโนเสาร์ให้คงอยู่เป็นแหล่งอ้างอิงธรณีวิทยา เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องของไดโนเสาร์ เพื่อให้เกิดพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการแหล่งใหม่ จึงได้มีโครงการนี้ขึ้น และได้สร้างอาคารวิจัยซากไดโนเสาร์และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ รวมทั้งสวนไดโนเสาร์ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัย แหล่งเผยแพร่ความรู้ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเที่ยวชม

ตำนานความเชื่อ

        1. ยุคครีเทเชียสตอน ( Early Cretaceous) เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน ผืนแผ่นดินอิสานมีลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มน้ำใหญ่ เป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์ และ สัตว์ดึกดำบรรพ์ซึ่งเมื่อตายลงไปก็ถูกตะกอน จากแม่น้ำกลบฝังเก็บรักษาเอาไว้กลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ สาเหตุที่ไดโนเสาร์มาตายรวมกันอยู่ที่นี่มีหลายสาเหตุด้วยกันสาเหตุหนึ่ง สันนิษฐานว่า สภาพแวดล้อมโบราณในยุคครีเทเชียสตอนต้น บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำใหญ่ มีแม่น้ำไหลคดเคี้ยวตวัดไปมา ( meandering riers) สภาพภูมิอากาศเป็นแบบกึ่งแห้งแล้ง (semi-arid environment) ในฤดูแล้งกระแสน้ำจะไหลเอื่อย ๆ แต่ในฤดูฝนจะมีน้ำป่าไหลหลากมาอย่างแรง ทำให้แม่น้ำมีกระแสน้ำไหล เชี่ยวและมีน้ำเอ่อล้นท่วมตลิ่งเป็นบริเวณกว้าง ฝูงไดโนเสาร์ที่อาศัยหากินที่ บริเวณริมน้ำและใช้เส้นทางเดิมข้ามแม่น้ำเป็นประจำได้พยายามเดินข้ามแม่น้ำ ตามปกติ แต่กระแสน้ำไหลแรงมาก ไดโนเสาร์ฝูงใหญ่มีจำนวนมากจึงเกิดการเบียดชนและเหยียบกัน พวกที่อ่อนแอจึงจมน้ำตาย ซากถูกพัดมาเกยตื้นอยู่บริเวณสันดอนหรือริมตลิ่ง ต่อมาถูกฝังกลบด้วยตะกอน ดินทรายเป็นระยะเวลานานนับหลายหมื่นหลายล้านปี จนกลายเป็นฟอสซิล หรือ ซากดึกดำบรรพ์

       2. ในช่วงปี พ.ศ. 2535 ท่านพระครูวิจิตรสหัสคุณ ได้ขึ้นไปวิปัสสนาอยู่บนหลังเขาภูกุ้มข้าว ได้นิมิตเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งคอยาว ๆ เล่นน้ำอยู่ที่สระน้ำใหญ่ ที่วัดสักกะวันแห่งนี้ไม่นานนักมันก็หายไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ท่านก็ได้นิมิตเห็นอีกครั้งและเมื่อปี พ.ศ. 2537 ท่านก็ได้นิมิตเห็นแสงสว่างสีเหลือง เหลือง แล้วท่านก็เห็นเป็นรถบัสสีแดงวิ่งมาจากถนนทางทิศใต้ตรงที่วัดแห่งนี้จากนั้น ก็มี พระสงฆ์รูปนั้นก็ชี้ลงตรงไปพบซากกระดูกไดโนเสาร์แล้วพูดว่า " ที่นี้สมบูรณ์แล้ว" จากนั้นภาพก็ค่อย ๆ จางหายไปและได้เกิดแสงสว่าง จ้าทั่วโลกทำให้ท่านมองเห็นนครเวียงจันทร์ (ภูเขาควายที่ประเทศลาว) แสงเหล่านั้นจึงค่อย ๆ จางหายไป พอตอนเช้าท่านจึงได้ลงจาก หลังภูเขาภูกุ้มข้าววันนั้นก็ได้มีพายุฝนตกหนักตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงเที่ยงวัน แล้วท่านก็ได้ได้ เดินออกไปตรวจดูบริเวณที่นิมิตเห็นรถบัสคันนั้น มาจอดอยู่ทำให้ท่านเกิดนิมิตพบโศก (หลุมลึก) กว้างประมาณ 4 ศอก ยาว 8 ศอก ศอก จากที่ฝนตกหนักทำให้น้ำฝนได้ชะล้างหน้าดินจึงพบชิ้นส่วน กระดูกมีลักษณะกลายเป็นหินโผล่ออกมา ท่านก็ได้เก็บเอากระดูกมากองไว้ประมาณ 20- 30 ชิ้น

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

        ภูกุ้มข้าวมีลักษณะเป็นภูเขาโดด ประกอบด้วยกลุ่มหินโคราช 2 หมวดหิน คือหมวดหินเสาขัวอยู่ตอนล่าง และหมวดหินภูพานวางตัวอยู่ตอนบน โดยหมวดหินทั้งสองวางเรียงซ้อนต่อเนื่องกัน ลักษณะการวางตัวมีความเอียงเทไปทางทิศตะวันตก หมวดหินภูพานจะพบตั้งแต่ระดับความสูงประมาณ 270 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ส่วนพื้นที่ตอนล่างเป็นหมวดหินเสาขัว ซึ่งประกอบด้วยหินทรายแป้ง หินทราย หินกรวดมนเอปูน หินโคลนสีน้ำตาลแดง ซากกระดูกไดโนเสาร์พบในชั้นหินทราย และหินกรวดมนเนื้อปูนของหมวดหินเสาขัว

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

        เป็นพิพิธภัณฑ์ มีการดูแลรักษาซากดึกดำบรรพ์เป็นอย่างดี มีอาคารคลุมหลุมขุดค้นเพื่อป้องกันการผุพังของซากดึกดำบรรพ์และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

        พืชพรรณ โดยรอบเป็นพืชท้องถิ่นและเป็นพืชเกษตรที่จัดการดูแลโดยเอกชน (ชาวบ้าน) บริเวณอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นพืชต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาโดยพิพิธภัณฑ์สิรินธรเพื่อการจัดแสดงให้โดยรอบอาคารมีความคล้ายคลึงกับสภาพบรรพกาล
        สัตว์ป่า เป็นชนิดที่พบตามบ้านเรือนเช่นนกกระจอก กิ้งก่า คางคก กระรอก ตุ๊กแก งู จิ้งเหลน เต่า เป็นต้น

ประเภทการใช้ประโยชน์

        การท่องเที่ยวและนันทนาการ แหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยา และซากดึกดำบรรพ์

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

        บริเวณส่วนบริการ มีการออกแบบอาคารภูมิทัศน์และป้ายสื่อความหมายให้เข้ากับบริบทโดยรอบได้ดี

โครงการพัฒนา

        - โครงการบ้านพักค่ายเยาวชนฯ
        - โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชบรรพกาลฯ

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา
แผนที่
ลักษณะทั่วไป
- ไม่มีข้อมูล -