สถานที่ตั้ง

จังหวัด ชัยภูมิ อำเภอ อำเภอเมืองชัยภูมิ ตำบล ท่าหินโงม 36000

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

        มอหินขาวมีกลุ่มหินอยู่หลายแห่งด้วยกัน ซึ่งกลุ่มหินชุดแรก คือ "เสาหิน 5 ต้น" เป็นหินที่มีความสูงประมาณ 12 เมตร จำนวนหนึ่งใน 5 มีต้นหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ขนาด 22 คนโอบ เสาหิน 5 ต้นนี้นับเป็นเสาหินที่เด่นที่สุด และเป็นไฮไลต์ของการมาเที่ยวมอหินขาว หินกลุ่มที่ 2 เรียกรวมกัน ว่า "ดงหิน" มีแท่งหินรูปร่างแปลกประหลาดมากมาย มีรูปร่างคล้ายเจดีย์ กระดองเต่ารองเท้าบูท หินกลุ่มที่ 3 เป็นแท่งหินและเสาหินขนาดเล็กกระจายอยู่บนลานหินกว้างโดยลาดเอียงขึ้นไปจดหน้าผา ที่มีชื่อว่า "ผาหัวนาค"

ตำนานความเชื่อ

        มีคนเคยเห็นความแปลกประหลาดของก้อนหินใหญ่ 5 ก้อน ที่ในทุกคืนวันพระ (15 ค่ำ, 8 ค่ำ) จะมีแสงสีขาวส่องขึ้นมา คนเฒ่าคนแก่สมัยนั้น เลยเรียกที่นี่ว่า มอหินขาว

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

        ประกอบด้วยกลุ่มหินที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา หินในพื้นที่เป็นหินทราย หมวดหินพระวิหาร อยู่ในชุดโคราช โดยวางตัวอยู่บนหมวดหินภูกระดึง และวางตัวอยู่ล่างหมวดหินเสาขัวเป็นแบบต่อเนื่อง โดยการตกตะกอนในสภาวะแวดล้อมที่เป็นแม่น้ำที่คดเคี้ยวและเปลี่ยนแปลงเป็นระบบทางน้ำประสานสาย ในสภาวะอากาศสมัยโบราณจากร้อนชื้นเป็นกึ่งแห้งแล้ง ลักษณะทางกายภาพของหินโดยทั่วไป หมวดหินพระวิหารประกอบด้วยหินทราย(Sandstones) สีขาวปนเหลืองเม็ดละเอียดถึงหยาบ มีการคัดขนาดและความมนดี ประกอบด้วยเม็ดแร่ควอตซ์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีหินทรายแป้ง (Siltstones) หินโคลน (Mudstones) ชั้นบางๆ และหินกรวดมน (Conglomerates) ธรณีวิทยาโครงสร้าง ชั้นหินมีการวางตัวเอียงไปทางตะวันออกเล็กน้อย ประกอบด้วยชั้นหินทรายเนื้อหยาบ ความหนาตั้งแต่ 10-20 เมตร มีชั้นเฉียงระดับ รอยแตกแทรกด้วยเหล็กออกไซด์เป็นแนวสันแข็ง หินถูกกัดกร่อนและผุพัง ส่วนที่แตกและผุพังจะถูกชะทลายออกไปเหลือเป็นหินโผล่ นอกจากนี้ขบวนการกัดกร่อนยังทำให้หินเกิดเป็นรูปร่างต่างๆตามแต่จะจินตนาการ

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

        เป็นเนินเขาและที่ราบบนเขา ระดับความสูงของกลุ่มแท่นหินทั้งสามอยู่ประมาณ 800-840 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมียอดเขาสูง 905 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ห่างไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

        พืชพรรณ สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นไร่ร้าง ป่าเสื่อมโทรม ทุ่งหญ้าบนเนินเขา
        สัตว์ป่า จะพบนกบางชนิด และสัตว์ป่าในบริเวณพื้นที่ไร่ร้างหรือป่าเสื่อมโทรมเท่านั้น

ประเภทการใช้ประโยชน์

        การท่องเที่ยว  นันทนาการ   และแหล่งเรียนรู้ศึกษา วิจัย
        กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์หลักคือ นักท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่นๆ

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

        บริเวณกลุ่มหินในพื้นที่มอหินขาวจะตั้งอยู่บนเนินเขาซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของพื้นที่จังหวัดชัยภูมิได้ สภาพพื้นที่เปิดโล่ง สามารถมองเห็นกลุ่มหินได้โดยรอบพื้นที่ แต่มีการพังทลายของหน้าดินเพราะหน้าดินได้ถูกเปิดเนื่องจากการเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ของผู้มาเยือน

โครงการพัฒนา

        โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา
ลักษณะทั่วไป
- ไม่มีข้อมูล -