สถานที่ตั้ง

จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ อำเภอ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตำบล ประจวบคีรีขันธ์ 77000

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

เป็นภูเขาขนาดเล็ก ทางขึ้นอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด มีบันได 396 ขั้น ขึ้นไปจนถึงยอดเขาซึ่งมีความสูง 245 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเป็นที่ตั้งของวัดเขาช่องกระจก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองและพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงประกอบพิธีบรรจุเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2501 และทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีงานฉลองเป็นประจำวันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี ด้านทิศเหนือของภูเขามีช่องโปร่งทะลุดูคล้ายกับกรอบของกระจกอันเป็นที่มาของชื่อ จากยอดเขาสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมือง อ่าวทั้งสามและหมู่เกาะต่างๆ ได้อย่างสวยงาม มีศาลานั่งพักผ่อนหย่อนใจ

ตำนานความเชื่อ

-

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีของเขาช่องกระจกประกอบด้วยหิน 2 ประเภท คือหินดินดานสีดำสลับกับหินโคลนและหินทราย มีซากดึกดำบรรพ์ประเภทไบรโอซัว (Bryozoa) และแบรคิโอพอด (brachiopod) จำนวนมาก อายุอยู่ในช่วง 280-270 ล้านปี หินประเภทที่ 2 เป็นหินปูน มีซากดึกดำบรรพ์พวกฟอแรมินิเฟอรา (foraminifera) และสาหร่าย อยู่ในช่วง 270-260 ล้านปี ปัจจัยที่ทำให้เกิดช่องกระจก (window) คือรอยแตกหลายทิศทางในชั้นหินปูน คุณสมบัติของหินปูนที่ละลายน้ำได้ดีและแรงลมที่ปะทะกับเขาริมทะเล

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

เป็นภูเขามีความสูง 245 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ภูมิทัศน์โดยรอบเป็นชุมชนเมือง และชายหาดบริเวณภูเขายังมีสภาพเป็นธรรมชาติ พบเป็นขยะบ้างเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝักข้าวโพด ที่นักท่องเที่ยวให้เป็นอาหารแก่ลิง

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

พืชพรรณส่วนใหญ่เป็นไม้ดังเดิมในพื้นที่ และพบเป็นลิงเป็นจำนวนมาก

ประเภทการใช้ประโยชน์

กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์หลักคือ นักท่องเที่ยวท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์รองคือ นักท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่นๆ นักท่องเที่ยวขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทจำลองและพระบรมสารีริกธาตุ

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

สามารถมองเห็นแหล่งธรณีได้อย่างชัดเจนในระยะไกล เส้นทางการเดินขึ้นเขาเป็นบันไดคอนกรีต มีราวกันตกที่แข็งแรง รูปแบบของบันได และศาลาพักผ่อน ชมวิว มีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่เป็นเขตวัดและชุมชนเมือง สามารถชมทัศนียภาพได้โดยรอบ แต่จะไม่เห็นแหล่งธรณีที่ชัดเจน ส่วนทางเดินเท้าไปยังบริเวณแหล่งธรณีมีลักษณะขรุขระ ไม่มีการใช้รั้วหรือราวกันตก

โครงการพัฒนา

โครงการสร้างบันไดทางขึ้นชมเขาช่องกระจกทางด้านทิศเหนือ

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา
- ไม่มีรูปภาพ -