สถานที่ตั้ง

จังหวัด เชียงใหม่ อำเภอ อำเภอเชียงดาว ตำบล เชียงดาว 50170

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ถ้ำ

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

           เป็นถ้ำขนาดใหญ่บนดอยหลวงเชียงดาว ยอดเขาสูงประมาณ 2,180 เมตร ดอยเชียงดาวสร้างตัวจากหินปูนยุคเพอร์เมียน ประกอบด้วยหินปูนมวลหนาเป็นส่วนใหญ่ สลับกับหินปูนชั้นบางเป็นช่วง ๆ หินปูนมีสีเทาอ่อนถึงเทาเข้ม มีเนื้อหินปูนแบบหินปูนเนื้อโคลน มีซากดึกดำบรรพ์ของฟิวซูลินิด ถ้ำเชียงดาว เกิดเนื่องจากกระบวนการเกิดภูมิประเทศแบบคาสต์ ซึ่งเกิดจากการกระทำของน้ำ ทางน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่และสวยงาม ภายในถ้ำเป็นจำนวนมาก แต่มีสีขุ่นเนื่องจากเป็นหินปูนเนื้อโคลน

ตำนานความเชื่อ

           ตำนานเรื่องเล่ากันต่อ ๆ มาอีกว่ามีฤาษี ชื่อว่า “พรหมฤาษี”เป็นผู้วิเศษด้วยฌานอันแก่กล้า ได้เรียกประชุมเทวดา อินทร์ พรหม ยักษ์ อสูร นาคราช เป็นต้น เพื่อมาเนรมิตสิ่งวิเศษต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปทองคำ ต้นโพธิ์ทองคำ ช้างวิเศษหรือ ช้างเอราวัณ ดาบวิเศษหรือดาบศรีกัญชัย อาหารทิพย์ ม้าวิเศษ เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถูกเก็บไว้ที่ส่วนลึกภายในถ้ำและได้รับ การดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากเทวดาผู้มีฤทธิ์ชื่อว่า “เจ้าหลวงคำแดง” ครั้งหนึ่งมีชาวบ้าน 2 คนได้เข้าไปในถ้ำเพื่อค้นหาของวิเศษ และต้องการนำออกมาจากถ้ำด้วย แต่แล้วก็มีอันเป็นไป คือทั้ง 2 คนหาทางออกมาจากถ้ำไม่ได้ แม้ญาติพี่น้องจะเข้าไปตามหาก็ไม่พบ ภายหลังมีชาวบ้านเข้าไปพบโดยบังเอิญ ปรากฏว่าคนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนอีกคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงนำมารักษาตัวที่บ้าน แต่เพียงไม่ถึงอาทิตย์ก็เสียชีวิต   หลังจากนั้น ก็มีเรื่องราวของคนที่เข้าไปในถ้ำแล้วหลงทางกลับออกมาไม่ได้ จนต้องเสียชีวิตอยู่ในถ้ำ เพราะมีจิตอกุศลคิดอยากได้ของวิเศษนั้นมาเป็นสมบัติส่วนตัว ดังนั้น เรื่องราวในตำนานจึงกลายเป็นความเชื่อ ความศรัทธาในความ ศักดิ์สิทธิ์ของถ้ำหลวงเชียงดาวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

ประวัติการศึกษาทางโบราณคดี

           ถ้ำเชียงดาว สร้างเมื่อพ.ศ. 2310 มีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วัดถ้ำหลวงเชียงดาว การก่อสร้างเริ่มครั้งแรกโดยพระครูบาประธรรมปัญญา และพ่อแสนปี ต่อมา พ.ศ. 2430 พระยาอินต๊ะภิบาล มาทำบันไดขึ้นสู่ปากถ้ำ พร้อมเสนาสนะและศิลปวัตถุอื่น ๆ ใน พ.ศ. 2456 มีฤาษีชื่อคันธะมาสร้างพระพุทธรูป จนถึงพ.ศ. 2477 ครูบาศรีวิชัย มาสร้างและบูรณะ นอกจากนั้นในสมัยหลังได้มีการสร้างและบูรณะเสนาสนะเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2514

           ภายในถ้ำ โดยเฉพาะโถงแรกที่เรียกชื่อว่าถ้ำพระ เนื่องจากมีการนำพระพุทธรูปเข้ามาประดิษฐาน สักการะในถ้ำจำนวนมาก

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

           วัดถ้ำเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคเพอร์เมียน (Permian: P1-2) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูนสีเทาอ่อน (Limestone) หินปูนตกผลึกใหม่ (Recrytallize Limestone) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 250-300 ล้านปี  ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 442 เมตร แนวโถงถ้ำมี 5 โถง ประกอบด้วย 1.) โถงถ้ำพระนอนมีความยาว 351.46 เมตร 2.) โถงถ้ำน้ำมีความยาว 298.34 เมตร ซึ่งเป็นโถงที่มีความยาวต่อกัน 3.) โถงถ้ำม้ามีความยาว 86.25 เมตร 4.) โถงถ้ำลับแลมีความยาว 273.19 เมตร และโถงถ้ำแก้ว (สำรวจในเส้นทางที่เชื่อมต่อมายังถ้ำพระนอน เนื่องจากปัจจุบันไม่เหมาะแก่การเข้าไป) มีความยาว 100.46 เมตร โดยโถงถ้ำพระนอนจะเชื่อมยาวต่อไปยังถ้ำน้ำ และโถงถ้ำม้าจะเชื่อมต่อไปถ้ำลับแล   นอกจากนี้ ยังมีห้องเล็ก ๆ อีก ได้แก่ ปล่องแจ้ง ห้องประชุมเทวดา ห้องนาหิน  แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย หินงอก เสาหิน หลอดโซดา และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน ตะกอนดินเหนียว พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (Tension Crack) นอกจากนี้ยังพบรอยระดับน้ำ หลุมยุบ และโพรงบริเวณเพดานถ้ำ (Anastomosis)

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

สิ่งมีชีวิต

          เนื่องจากวัดถ้ำเชียงดาว เป็นวัดเก่าแก่และเป็นที่เคารพสักการะทั้งคนในพื้นที่และต่างถิ่น ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณวัดร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ และการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบ ๆ วัดถ้ำ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก 

1. การสำรวจพรรณพืช

           จากการศึกษาสังคมป่าเบญจพรรณบริเวณหลังคาถ้ำเชียงดาว โดยการวางแปลงตัวอย่างขนาด 10x10 เมตร จำนวน 5 แปลง พื้นที่ศึกษาบริเวณนี้เคยมีไม้สักขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมีไม้อื่นผสมไผ่รวกขึ้นแทนที่ ต้นไม้ขึ้นอยู่ห่างและมีเรือนยอดโปร่งทำให้มีแสงส่องถึงไม้พื้นล่างได้มาก พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ผลัดใบ ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 47 ต้น และสามารถจำแนกได้เป็น 23 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ มะแฟน (Protium serratum) ซ้อ (Gmelina arborea) เพกา (Oroxylum indicum) ตีนนก (Vitex pinnata) และดู่ด้อง (Dalbergia ovata) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 32.55, 25.58, 24.19, 24.09 และ 15.94 ตามลำดับ (ตารางที่ 4-80)   พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 3.5-13 เมตร จากตารางดัชนีค่าความสำคัญ  พบว่า มะแฟนเป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าดัชนีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจาก สามารถพบได้ทั่วไป และลำต้นมีขนาดใหญ่ ในขณะที่ซ้อและเพกาสามารถพบได้ง่ายกว่าและมีจำนวนมากกว่าแต่มีขนาดเล็ก จึงมีค่าความสำคัญเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำเชียงดาวมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 2.99 ซึ่งมากกว่าค่าความหลากหลายทางชีวภาพที่ถ้ำหลวงนางนอน   ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากจำนวนชนิดพันธุ์ รวมถึงการกระจายพันธุ์ของพันธุ์ไม้บริเวณถ้ำเชียงดาว มีมากกว่าและสม่ำเสมอกว่าที่สำรวจพบบริเวณถ้ำหลวงนางนอน

2. สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำ

           ค้างคาวที่อาศัยอยู่บริเวณถ้ำน้ำ และแมงมุมในถ้ำม้า

ประเภทการใช้ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ที่ดิน

             เนื่องจาก พื้นที่ส่วนมากของ ตำบลเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ดังนั้นจึงมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณร้อยละ 13 และเป็นพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 64  

การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ

            การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบถ้ำเชียงดาว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ นอกนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชาวบ้าน เช่น ไร่ สับปะรด สวนลำใย และสวนลิ้นจี่ และไม่พบกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อถ้ำเชียงดาว

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

           ถ้ำเชียงดาว เป็นถ้ำที่น่าสนใจถ้ำหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขต อำเภอเชียงดาว ตั้งอยู่เชิงเขาของดอยหลวงเชียงดาว ภายใน แต่ละถ้ำ มีความงามจากการเสกสรรปั้นแต่งของธรรมชาติ ชวนให้ตื่นตาตื่นใจกับปรากฏการณ์ของหินงอกหินย้อย ที่ก่อให้ เกิด รูปร่างต่างๆเป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในมีหินงอกหินย้อยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่สวยงาม บางแห่งเป็นซอกหลืบ เมื่อฉายไฟ จะมีประกายระยิบระยับ สามารถจินตนาการเป็นรูปต่างๆได้มากมาย เสน่ห์อย่างหนึ่งของที่นี่อยู่ตรงที่มีน้ำใส่ไหลเย็นจากในถ้ำไหล ออกมาที่บริเวณหน้าถ้ำ เป็นอย่างนี้ชั่วนาตาปีไม่มีเหือดหาย และไหลมารวมกันเป็นสระน้ำมีปลาน้อยใหญ่ว่ายวนไปมา ทำให้ บรรยากาศสดชื่นและยังร่มรื่น ด้วยพันธุ์ไม้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเที่ยวกันเป็นจำนวนมากและ ตรงหน้าถ้ำนี้เองเป็นที่ตั้งของ วัดถ้ำเชียงดาว

โครงการพัฒนา

การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน

1) แผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำ

            การบริหารงานจัดการโดยคณะกรรมการวัด ซึ่งมาจากการเลือกโดยชาวบ้านหมู่ที่ 5 โดยทาง อบต. เชียงดาว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวหลังหักรายจ่ายแล้วจะมอบให้วัด ในปัจจุบันคณะกรรมการวัดมีทั้งหมด 12 คน หน้าที่หลัก คือ เปิดถ้ำ ทำความสะอาด จัดงานในช่วงเทศกาล โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการเมื่อมีวาระต่าง ๆ

            สำหรับมัคคุเทศก์ มีหัวหน้าตะเกียงคอยดูแล คือ คุณสุรีรัตน์ ไชยวงศ์ และมัคคุเทศก์คนอื่น ๆ จะคัดเลือกจากชาวบ้านที่อยู่ในหมู่ 5 เท่านั้น โดยต้องผ่านการฝึกหัดเป็นไกด์ก่อน ก่อนจะต้อนรับนักท่องเที่ยวจริง และหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาช่วยเหลือในด้านอบรบมัคคุเทศก์ การสื่อสารภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การวางตัวที่ดีต่อนักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 75 คน โดยจะสลับกันเข้ามาทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยววันละ 20-30 คน ในระหว่างที่มัคคุเทศก์ไม่ได้ทำหน้าที่ บางส่วนจะมีอาชีพเสริม เช่น ทำสวนผลไม้ หรือสานตะกร้า

            รายได้จากการเก็บจากนักท่องเที่ยว คือ จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม และตะเกียง (จำกัด 5 คน ต่อ 1 ตะเกียง) ในราคา 100 บาท แบ่งสัดส่วนออกเป็น 40 บาท สำหรับมัคคุเทศก์ท่านนั้น 40 สำหรับกลุ่มมัคคุเทศก์ และ 20 บาท มอบให้วัด

            วัดถ้ำเชียงดาว เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนวัดบ้านถ้ำ และสนับสนุนค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนโรงเรียนบ้านถ้ำ โดยนักเรียนเหล่านี้บางส่วนได้ฝึกเป็นมัคคุเทศก์น้อยอีกด้วย อีกทั้งทางวัดจะช่วยเหลือค่าฌาปนกิจสำหรับคนในหมู่บ้าน ศพละ 3000 บาท

            วัดถ้ำเชียงดาวมีงานประจำปี คือ สงฆ์น้ำพระธาตุ ในเดือน 8 (ช่วงฤดูฝน) โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีวิทยุทั่วอำเภอเชียงดาว

             แต่จากการสังเกตพบว่าในแต่ละฝ่ายที่ได้เข้ามาร่วมกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มถือตะเกียง ผู้เฒ่าที่มาขายอาหารปลา ขายดอกไม้ ขายหนังสือ ส่วนมากจะมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใน และมีจิตใจ เพือ่การบริการ ต่อผู้มาเยือน จึงเป็นเสนาห์ อย่างหนึ่งของผู้คนที่ได้มาเยี่ยมชมวัดถ้ำเชียงดาว

2) การมีส่วนร่วมของชุมชน

            ชาวบ้านหลายกลุ่มเข้ามาช่วยเป็นกรรมการบริหารวัดถ้ำเชียงดาว และนอกจากนี้ กลุ่มผู้ถือตะเกียงมีการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างชัดเจน เพื่อเข้าวัด เก็บเป็นส่วนกลาง และผู้ที่ถือตะเกียงได้รับ 

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

สิ่งก่อสร้างและการบริการ

1. ภายนอกถ้ำ

            ถ้ำเชียงดาวเป็นถ้ำที่เปิดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงศาสนาอย่างเต็มตัว พื้นที่รอบ ๆ ตัวถ้ำซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดมีพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง พื้นที่โดยรอบตัวถ้ำเทพื้นปูน ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างในเชิงสัญญลักษณ์ทางศาสนา เพื่อที่จะให้ผู้มาเยือนวัดถ้ำได้ร่วมทำบุญบริจาคทานต่าง ๆ นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ทำการ ลานจอดรถ และ ห้องน้ำ สำหรับบริการนักท่องเที่ยงและผู้มาเยือน และมีป้ายชี้แจงรายละเอียด อย่างชัดเจน 

2. ภายในถ้ำ

            ถ้ำเชียงดาว มีนักท่องเที่ยวมาเยี่มชมในแต่ละวันจำนวนมาก และจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เนื่องจากเป็นถ้ำพระที่มีชื่อเสียงมานาน และ ยังมีความสวยงามอยู่ถึงแม้ว่าจะเสื่อมสภาพไปบ้าง ภายในโถงถ้ำมีการติดไฟส่องสว่างตั้งแต่ปากทางเข้าจนไปสิ้นสุดโถงถ้ำพระนอน แต่การเดินสายไฟส่องสว่างยังมีบางจุดที่สายไฟไม่เป็นระเบียบ และการใช้สีสันของหลอดไฟต่าง ๆ เพื่อประดับตามหินย้อยและหินงอกบางส่วนอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากถ้ำพระนอน มีการติดไฟส่องสว่างผู้มาเยือนสามารถเดินชมได้โดยไม่ต้องมีไกด์ท้องถิ่น แต่ถ้ำแก้ว ถ้ำม้า ต้องมีไกด์ที่ถือตะเกียงเป็นผู้นำทาง ในส่วนถ้ำเหล่านี้จึงไม่พบมีป้ายบอกเส้นทางและรายละเอียดใด ๆ

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
คุณค่าการใช้ประโยชน์
- ไม่มีรูปภาพ -
คุณค่าความสำคัญ
- ไม่มีรูปภาพ -
ผลกระทบที่พบเห็น
- ไม่มีรูปภาพ -
ลักษณะทั่วไป
สิ่งอำนวยความสะดวก
- ไม่มีรูปภาพ -
หัวหน้า
- ไม่มีรูปภาพ -
อื่นๆ
- ไม่มีรูปภาพ -
เจ้าหน้าที่
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนที่
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -