สถานที่ตั้ง

จังหวัด ราชบุรี อำเภอ อำเภอเมืองราชบุรี ตำบล เกาะพลับพลา 70000

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ภูเขา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

     เป็นภูเขาหินปูนอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เคยเป็นแหล่งระเบิดหินปูน ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นสวนสาธารณะเขางู และเป็นเส้นทางขับรถเลาะรอบเขา มีทัศนียภาพที่งดงาม เทือกเขาต่างๆมีความลดหลั่นกันคล้ายงูเลื้อย อีกทั้งยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่หาได้ยาก เนื่องจากรอบๆอุทยานหินเขางู มีหมู่ถ้ำเขางูซึ่งเป็นโบราณสถานมากมาย ในแต่ละถ้ำมีภาพสลักหินที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยทวารวดี

 

ตำนานความเชื่อ

     จากคำบอกเล่าของ คุณรงค์ คุ้มจิตร เล่าว่าเขางูมีตำนานเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่าเขางูเป็นเมืองลับแล ที่ถ้ำแห่งนี้สามารถทะลุผ่านไปยังเมืองลับแล ซึ่งมีผู้คนชาวลับแลอาศัยอยู่แต่ไม่มีผู้ใดมองเห็นคนพวกนี้ได้ วันดีคืนดีจะมีเสียงปี่พาทย์ดังออกมา ในสมัยก่อนเมื่อชาวบ้านจะเลี้ยงพระจะไปอธิษฐานขอยืมถ้วยชามจากคนลับแล ก็จะมีถ้วยชามจัดไว้ตามที่ขอยืมต่อมามีคนยืมแล้วไม่นำเอาไปคืนทำให้คนลับแลไม่ให้ยืมอีกต่อไป ปากถ้ำที่เข้าสู่เมืองลับแลจึงปิด ตอนเด็กๆได้เคยไปวิ่งเล่นแถวนั้นแล้ว มี ปู่ ย่า ตา ยาย ชี้ให้ดูปากถ้ำ และเมื่อจังหวัดมาบูรณะได้ไถดินมาไว้บริเวณปากถ้ำจึงทำให้ปากถ้ำที่เล่าขานกันมานั้นหายไป 

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

     ความเป็นมาของชื่อ “เขางู” นั้นไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน  บางคนกล่าวว่าเดิมมีพญางูใหญ่อาศัยอยู่บนเขา บ้างก็ว่าลักษณะเทือกเขามีความคดเคี้ยวสลับซับซ้อนคล้ายงูเลื้อยจึงเรียกว่าเขางู อย่างไรก็ตาม การเรียกว่า “เขางู” นั้นปรากฏในพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 1 ก็เรียกว่าเขางูมาแล้วในสมัยก่อนตั้งแต่ก่อนสร้างเมืองกรุงเทพฯ แต่ที่ปรากฏชัดว่าบริเวณเขางูเคยมีผู้มาใช้ประโยชน์ในการตั้งหลักแหล่งทำมาหากินกว่าพันปี เนื่องจากพบหลักฐานที่เป็นซากโบราณวัตถุในถ้ำต่าง ๆ ที่สำคัญซึ่งพบในปัจจุบัน 4 ถ้ำบนเทือกเขางู ดังนี้

          1) ถ้ำฤาษี เป็นถ้ำตื้น ๆ ตอนในมีกลุ่มพระพุทธรูปศิลาทราบตั้งเรียงอยู่เป็นแถวยาว ผนังถ้าลักภาพพระนั่งบ้าง ยืนบ้าง แต่องค์ที่สำคัญที่สุดคือพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท แสดงปางวิตรรกะ (แสดงธรรม)

          2) ถ้ำฝาโถ ถ้ำนี้ต้องเดินลึกเข้ามาตามถนนอีกประมาณ 100 เมตร ที่ถ้ำฝาโถเป็นพระนอนปางปรินิพพาน พระพุทธรูปประทับนอนใต้ต้นสาละปูนปั้น ซึ่งปั้นเป็นลายเพชรนิลจินดาผ้าแพรพรรณงดงา55ม รอบข้างและผนังตรงข้ามมีรูปพระสาวกเทพต่าง ๆ ลักษณะเป็นสกุลศิลปะทวารวดี

          3) ถ้ำจีน ถ้ำนี้มีเพดานสูง ผนังมีภาพสลักพระพุทธรูปนั่ง 2 องค์

          4) ถ้ำจาม ถ้ำนี้อยู่ห่างไปจากถ้ำจีนเล็กน้อย มีภาพสลักและภาพปูนปั้นที่สำคัญหลายภาพเป็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เช่น ปางไสยาสน์ ปางยมกปาฏิหาริย์

    ถ้ำต่าง ๆ ที่กล่าวมาพบได้ที่เขาลาดกล้วย นอกจากนี้ยังพบสิ่งที่น่าชมในที่แห่งอื่นของเทือกเขางูอีก เช่น ถ้ำระฆัง ถ้ำเขาพระยาปราบ และพระพุทธบาทจำลองทำด้วยศิลาแลงประดิษฐานอยู่บนยอดเขาสูงประมาณ 128 เมตร สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

     เทือกเขางู เป็นเทือกเขาหินปูนขนาดย่อมยุคเพอร์เมียนของกลุ่มหินราชบุรี ลักษณะหินปูนมีสีเทาอ่อน ซึ่งมีมวลหนา-หนามาก และมีซากดึกดำบรรชีวิน ของ Fusulinid และกำหนดให้หินปูนบริเวณนี้มีอายุประมาณ 290-248 ล้านปี 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

  • ลักษณะภูมิประเทศ เทือกเขางูเป็นเทือกเขาโดด (Monadnock) และมีหน้าผาชันรอบข้าง เทือกเขานี้ตั้งอยู่บนที่ราบ ที่มีความสูง 8-9 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตัวเทือกเขาประกอบด้วยยอดเขาสูง 4 ยอด คือ เขาพระยาปราบ เขาแขก เขาลาดกล้วย และเขาหลักว่าว ซึ่งมีความสูงประมาณ 140,239,100 และ 180 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตามลำดับ ปัจจุบันเทือกเขานี้ถูกทำลายลง โดยการระเบิดหินเป็นจำนวนมาก ทำให้เทือกเขาเกิดลักษณะเว้าแหว่งหลายส่วน และส่งผลให้ยอดเขาหลักว่าวขาดส่วนต่อเนื่องจากยอดอื่น นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นทะเลสาบน้ำขัง 2 แห่ง ซึ่งเป็นผลจากการระเบิดหินด้วย คือ อยู่ระหว่างเขาลาดกล้วย เขาแขก และเขาหลักว่าว
  • ดิน ชั้นหน้าดินที่ปกคลุมอยู่ตามยอกเขาหินปูนมีความหนาเฉลี่ย 3-4 เมตร เป็นตะกอนสีแดงสด และเศษหินขนาดต่าง ๆ ใต้ชั้นหน้าดินเป็นชั้นหินปูนสีเทาเข้า ชั้นหนา (หนาเฉลี่ย 20-30 เซนติเมตร) เนื้อแน่น แข็ง แต่มีรอยแตกในชั้นหินมาก 
  • น้ำ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • ภูมิทัศน์ เทือกเขาหินปูนที่ผ่านการระเบิดหิน และล้อมรอบด้วยที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

  • พืชพรรณธรรมชาติ สภาพป่าดั้งเดิมเป็นป่าเบญจพรรณ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ลักษณะส่วนใหญ่เป็นป่าโปร่ง ประกอบด้วย ไม้ยาง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม่ประดู่ และไม้เบญจพรรณ หลักจากได้เข้าไปใช้ประโยชน์โดยการระเบิดหิน ทำให้สภาพป่าถูกทำลายไปอย่างมาก
  • สัตว์ป่า สัตว์ป่าที่พบบริเวณเขางู คือ ลิงจำนวนมาก เนื่องมาจากในอดีตที่สภาพป่ายังสมบูรณ์ ลิงสามารถอาศัยและหากินจากธรรมชาติได้ ต่อมาแหล่งอาหารถูกทำลาย มีคนมาท่องเที่ยวและให้อาหารแก่ลิง ทำให้พฤติกรรมของสัตว์เปลี่ยนไปเป็นคอยรอรับอาหาร

 

ประเภทการใช้ประโยชน์

     เขางูปัจจุบันทางจังหวัดได้จัดให้เป็นสวนสาธารณะ แหล่งท่องเที่ยวประเภทโบราณคดี และผจญภัย ชื่อว่าอุทยานหินเขางู

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

     มีการเข้าถึงได้สะดวกจากถนนใหญ่สภาพพื้นที่มีการพัฒนาในส่วนบริการ ศาลา ถังขยะ บันได ลานจอดรถ และทางเดิน พื้นที่โดยรอบเป็นชุมชนเมือง

โครงการพัฒนา

     ในอดีตที่ผ่านมา บริเวณเทือกเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีการดำเนินกิจกรรมการระเบิดและย่อยหินซึ่งส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีสภาพทรุดโทรมเป็นอย่างมาก คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ให้ยุติกิจกรรมการระเบิดและย่อยหิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เดิม สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ) ได้มอบหมายให้คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการการอนุรักษ์ธรรมชาติเฉพาะแหล่งเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และในปี พ.ศ. 2556 จังหวัดราชบุรี โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดราชบุรี ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินอุทยานเขางู จังหวัดราชบุรี

 

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

     ถนนโดยรอบ สะพานขนาดใหญ่สำหรับเดินชมวิว ศาลาที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่จอดรถ

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทภูเขา
ลักษณะทั่วไป
สิ่งอำนวยความสะดวก
- ไม่มีข้อมูล -