สถานที่ตั้ง

จังหวัด สตูล อำเภอ อำเภอมะนัง ตำบล ปาล์มพัฒนา 91130

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ถ้ำ

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

           ถ้ำภูผาเพชรส่วนใหญ่เป็นถ้ำกึ่งแห้ง (semi-dry cave) ตำแหน่งปากถ้ำตั้งอยู่ในตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาในเขตจังหวัดพัทลุง แสดงลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) 

            ถ้ำภูผาเพชร มีเพดานถ้ำสูงโปร่ง  ความงามของหินงอกหินย้อยที่มีหยดน้ำเกาะอยู่  เมื่อกระทบกับแสงไฟจะมีประกายวาวเหมือนเพชร แบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยประมาณ 20 ห้อง   ถ้าเดินลึกเข้าไปด้านในสุด จะพบโพรง 1 แห่ง เพดานถ้ำบริเวณนั้นเป็นช่องปล่อง มีแสงธรรมชาติสาดส่องกระทบกับหินงอกหินย้อยที่มีสีเขียว  ทำให้ลานกลางห้องเป็นสีมรกตสวยงามแปลกตา จึงตั้งชื่อกันว่า ห้องแสงมรกต  บริเวณที่เป็นไฮไลท์ที่สุดสวยงามสุด คือ ห้องภูผาเพชร  หินงอกหินย้อย มีประกายเหมือนเกล็ดเพชรระยิบแวววาว เมื่อกระทบกับแสงไฟสวยงามวิจิตรตระการตาเกินคำบรรยาย  คุณจะหลงใหลในความงามมหัศจรรย์ของธรรมชาติถ้ำภูผาเพชร 

ตำนานความเชื่อ

             ชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด  ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร”  เนื่องจากถ้ำมีความยาว  ลักษณะคดเคี้ยว แบ่งเป็นหลายตอน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย  เมื่อกระทบกับแสงไฟ  ผนังถ้ำมีประกายแวววาวเหมือนเพชร  จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำเพชรก่อน  ภายหลังชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า  ถ้ำภูผาเพชร  ตามประวัติมีว่า  เมื่อปี พ.ศ. 2517  ครอบครัวของนายช่วงและนางแดง  รักทองจันทร์  ได้ย้ายเข้ามาอาศัยบริเวณถ้ำยาวเป็นครอบครัวแรก ล่วงมาปีพ.ศ. 2535  มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมา  ตั้งสำนักบริเวณถ้ำยาว  อยู่ได้หนึ่งปีก็จากไป ก่อนจากไปท่านได้บอกชาวบ้านว่าได้เห็นทางเข้าไปในถ้ำยาว  มีถ้ำน้อยใหญ่อีกหลายถ้ำ  บางถ้ำมีพื้นที่กว้างขวางสวยงาม  กระทั่งปี พ.ศ.2540  นายศักดิ์ชัย  บุญคง  สมาชิก สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา ได้ทำการสำรวจร่วมกับทางราชการและประชาชนชาว อำเภอมะนัง จึงได้เปิดโฉมหน้าถ้ำภูผาเพชรให้คนทั่วไปได้รู้จักโดยทั่วกันดังทุกวันนี้ 

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

  • ปี พ.ศ. 2535 หลวงแผลง ได้ขึ้นไปธุดงค์บนเขาและค้นพบถ้ำจึงได้ชักชวนชาวบ้านเข้าไปสำรวจ
  • ปี พ.ศ. 2540 นายศักดิ์ชัย บุญคง สมาชิก อบต.ตำบลปาล์มพัฒนา ได้ทำการสำรวจถ้ำภูผาเพชรร่วมกับทางราชการและราษฎร
  • ปี พ.ศ. 2541 นักโบราณคดีสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 10 จังหวัดสงขลา  ร่วมกับสภาตำบลปาล์มพัฒนา  ทำการสำรวจบริเวณถ้ำภูผาเพชร  เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  โดยพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
  • ปี พ.ศ. 2542 มีการสำรวจอย่างจริงจังอีกครั้งและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา

หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

          ภายในคูหาด้านทิศตะวันตกของถ้ำพบหลักฐานโบราณคดี เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์  เปลือกหอย กระดองเต่า เศษภาชนะดินเผาลาย และภาชนะทรงพาน

          อย่างไรก็ตามจากการสำรวจถ้ำภูผาเพชร  วันที่ 16 - 19 มกราคม 2559  พบว่าภายในถ้ำภูผาเพชรยังสามารถพบเศษภาชนะดินเผาอยู่บ้าง  และปัจจุบันโบราณวัตถุที่เคยพบถูกเก็บรักษาอยู่ที่ อบต.ตำบลปาล์มพัฒนา  แต่ไม่ได้มีการวิเคราะห์หรือศึกษาในกระบวนการต่อไป

 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

           ประเภทของถ้ำภูผาเพชรส่วนใหญ่เป็นถ้ำกึ่งแห้ง (semi-dry cave) ตำแหน่งปากถ้ำตั้งอยู่ในตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาในเขตจังหวัดพัทลุง แสดงลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) ลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งกลุ่มหินทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician: O) หินที่พบในพื้นที่ศึกษาประกอบด้วย หินปูนเนื้อดินสีเทาดำ (Argilliceous Limestone) หินสาหร่าย (Stromatolite) พบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเล ได้แก่ นอติลอยด์ ไครนอยด์สเต็มหรือพลับพลึงทะเล หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 438-505 ล้านปี แนวโถงถ้ำมีความยาว 536.6 เมตร  มีทิศทางการวางตัวอยู่ในแนว N43W สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 180 เมตร  แร่ทุติยภูมิ (Speleothems) ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) หรือตะกอนที่เกิดจากสารประเภทคาร์บอเนต ได้แก่ หินงอก หินย้อย เสาหิน ไข่มุกถ้ำ และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ ดินเหนียว ทราย และกรวด นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำ เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า ระดับน้ำภายในถ้ำในอดีต การเกิดหลุมยุบในถ้ำ การทรุดตัวของพื้นถ้ำ

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

           พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ผลัดใบ จากการศึกษาไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 294 ต้น และสามารถจำแนกได้เป็น 60 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ หลุมพอ (Intsia palembanica Miq) พลอง (Memecylon sp.) กระเบา (Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness.) เนียนเขา (Polygala lateriflora Blume) และปอหูช้าง (Firmiana colorata (Roxb.) R.Br.) ซึ่งมีค่าความสำคัญ (Importance Value Index: IVI) เท่ากับ 24.43, 24.01, 19.92, 17.63 และ 15.99 ตามลำดับ สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำภูผาเพชรมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 3.45 ซึ่งมีค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าความหลากหลายทางชีวภาพที่สำรวจจากพื้นที่ป่ารอบๆถ้ำอื่นๆ ในเขตภาคใต้ ดังที่จะได้กล่าวต่อไป 

           เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. 2540 ถ้ำภูผาเพชรได้มีการพัฒนาในเชิงพื้นที่ มาเป็นลำดับ จนมีการสร้างเส้นทางเดินสำหรับนักท่องเที่ยวภายในถ้ำ ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ทำให้เกิดเสียงดัง อาจเป็นสาเหตุให้ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่อาศัยภายในถ้ำ มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย รวมทั้งปริมาณ ตัวอย่างเช่นค้างคาว ในบริเวณคูหาที่เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว ปัจจุบันพบค้างคาวน้อยมาก และค้างคาวได้เปลี่ยนไปอาศัยอยู่ในพื้นที่โถงถ้ำที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปน้อยมากและไม่มีการสร้างเส้นทางเดินในบริเวณนั้น เช่น โถงอ่างศิลาใหญ่ ดังนั้น ในปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตที่พบในถ้ำ ได้ แก่ ค้างคาว แมงมุม และจิ้งหรีด เป็นต้น ส่วนบริเวณหลังคาถ้ำ พบลิง เป็นต้น

ประเภทการใช้ประโยชน์

           การใช้ประโยชน์ที่ดิน ต. ปาล์มพัฒนาประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 59 และส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ ป่าไม้ พื้นที่อยู่อาศัย และแหล่งน้ำ  จากการสำรวจในพื้นที่ ในช่วงเดือน มกราคม 2559 พบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ ถ้ำภูผาเพชร ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นบริเวณลอดจอดรถ และทางเข้าเพื่อเดินขึ้นถ้ำภูผาเพชร สำหรับพื้นที่โดยรอบจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งประกอบด้วย ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน  เป็นพืชหลัก และยังพบการปลูกไม้ยืนต้น และไม้ผล เช่น มังคุด เงาะ ลองกอง ทุเรียน เป็นต้น ให้เห็นได้ทั่วไป ทั้งนี้ ไม่พบกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อถ้ำภูผาเพชร

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

            ถ้ำภูผาเพชร มีเพดานถ้ำสูงโปร่ง  มีความงามของหินงอกหินย้อยที่มีหยดน้ำเกาะอยู่  เมื่อกระทบกับแสงไฟจะมีประกายวาวเหมือนเพชร แบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยประมาณ 20 ห้อง มีไฟส่องสว่างตามทางเดิน มีการตั้งชื่อแต่ละห้องตามลักษณะของธรณีสัณฐานที่พบเห็น   เช่น ห้องม่านเพชร  มีลักษณะคล้านผ้าม่านแขวนเป็นหลืบซ้อนกัน ห้องพญานาค  มีหินงอกต่อตัวกันคล้ายงูใหญ่หรือพญานาค ห้องปะการัง มีหินงอกหินย้อย คล้ายประการังในทะเล ถ้าสังเกตุจากประเภทของหินงอก  (Stalagmite) ก็จะมีชื่อต่างๆ  ตามรูปทรงที่พบเห็นมีมากถึง  31 แห่ง   ได้แก่  ดอกเห็ด  ซุ้มประตู  หัวแหวนเพชร  สายน้ำเพชร หัวพญานาค  พญานาคปรก  เศียรพระ ดอกบัวคว่ำ  ประเภทหินย้อย  (Stalactite)  ก็มีทั้งหมด 4 แห่ง  มีรูปร่างคล้ายโดม  แบบแมงกระพรุน   และแบบม่าน ประเภทเสาหิน (Column in Cavern)  ซึ่งเป็นส่วนของหินงอกและหินย้อยมาบรรจบกันกลายเป็นรูปเสาค้ำถ่อเพดานถ้ำ มีมาก14  แห่ง  ประเภทเสาหินมีลักษณะต่างๆ กัน และมีชื่อเรียกว่า  เสาเพชรหรือเสาหินย้อย  หรือเสาค้ำสุริยัน  ส่วนแบบตะกอนน้ำไหล (flow stone) ประมาณ  5 แห่ง  รูปทรงต่างกัน แบบขั้นบันได  แบบอ่าง  แบบเวทีคอนเสิร์ต  ถ้าเดินลึกเข้าไปด้านในสุด จะพบโพรง 1 แห่ง เพดานถ้ำบริเวณนั้นเป็นช่องปล่อง มีแสงธรรมชาติสาดส่องกระทบกับหินงอกหินย้อยที่มีสีเขียว  ทำให้ลานกลางห้องเป็นสีมรกตสวยงามแปลกตา จึงตั้งชื่อกันว่า ห้องแสงมรกต  บริเวณที่เป็นไฮไลท์ที่สุดสวยงามสุด คือ ห้องภูผาเพชร  หินงอกหินย้อย มีประกายเหมือนเกล็ดเพชรระยิบแวววาว  เมื่อกระทบกับแสงไฟสวยงามวิจิตรตระการตาเกินคำบรรยาย  คุณจะหลงใหลในความงามมหัศจรรย์ของธรรมชาติถ้ำภูผาเพชร 

โครงการพัฒนา

           แผนพัฒนาของ อบต. ฉบับปัจจุบัน คือ แผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2559-2561) มีโครงการที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำภูผาเพชร อยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของตำบล ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสตูลที่ 1  ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวที่ประทับใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้พ้นจากความยากจน ประกอบด้วย 3 แนวทาง 15 โครงการ ได้แก่ (1) แนวทางการพัฒนา ก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมแหล่งท่องเที่ยวให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 6 โครงการ  (2) แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การบริการนำเที่ยว และการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 5 โครงการ  และ (3) แนวทางการพัฒนาระบบประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทุกรูปแบบ จำนวน 4 โครงการ ดังตารางแสดงรายละเอียดโครงการที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำภูผาเพชร

 

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

          สรุปโดยภาพรวมของสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกภายนอกถ้ำ พบว่าถ้ำภูผาเพชรมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนและพอเพียง แต่ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ ดังนั้นจึงพบว่า มีห้องน้ำ อยู่ 2 อาคาร แต่ส่วนมากผู้จะใช้ห้องน้ำจะใช้ที่บริเวณที่ใกล้กับที่จอดรถ ถึงแม้ว่าจะมีป้ายเขียนทางเข้า และทางออกจากถ้ำภูผาเพชรไว้คนละทาง เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินสวนกัน แต่ พบว่าส่วนมากนักท่องเที่ยวจะใช้เส้นทางที่สั้นกว่า เดินกลับออกมา โดยใช้เส้นทางเดินเข้า ดังนั้น ในอนาคต หากทางฝ่ายจัดการสถานที่ สมควรทำคือเครื่องกั้น สำหรับคนเข้าช่องทางหนึ่ง และเครื่องแยกคนออกอีกด้านหนึ่ง  และจะเป็นประโยชน์ในการนับจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย และหากนักท่องเที่ยวเดินออกหรือกลับ จะเป็นการให้นักท่องเที่ยว เดินไปถึงบริเวณห้องน้ำที่เป็นอาคาร หลังที่ 2 ที่มีจำนวนห้องน้ำมากกว่า แต่กลับพบว่ามีผู้ไปใช้น้อยกว่า และยังเป็นการใช้ประโยชน์ลานหินตามธรรมชาติ หมู่ไม้ใหญ่น้อยรอบๆ ตัวถ้ำ เป็นประโยชน์ ด้านสุนทรียภาพแก่นักท่องเที่ยว โดยที่ต้นไม้ต่างๆ ควรมีชื่อ สามัญ (ท้องถิ่น) และชื่อ วิทยาศาสตร์ ทำป้ายให้เหมาะสมติดไว้ที่ต้นไม้นั้น 

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
คุณค่าการใช้ประโยชน์
- ไม่มีรูปภาพ -
คุณค่าความสำคัญ
- ไม่มีรูปภาพ -
ผลกระทบที่พบเห็น
- ไม่มีรูปภาพ -
ลักษณะทั่วไป
สิ่งอำนวยความสะดวก
- ไม่มีรูปภาพ -
หัวหน้า
- ไม่มีรูปภาพ -
อื่นๆ
- ไม่มีรูปภาพ -
เจ้าหน้าที่
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนที่
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -