สถานที่ตั้ง

จังหวัด พังงา อำเภอ อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบล กระโสม 82130

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ถ้ำ

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

             ถ้ำสุวรรณคูหาตั้งอยู่ในวัดสุวรรณคูหาหรือวัดถ้ำ  เป็นภูเขาหินปูนลูกโดดขนาดเล็ก  ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบ  ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับคลองถ้ำซึ่งไหลลงสู่อ่าวพังงา  มีหน้าผาสูงชัน เป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่ในหินปูนอายุเพอร์เมียน บริเวณปากถ้ำจะแสดงลักษณะของหินโดโลไมต์ คือบริเวณผิวจะมีรอยแตกคล้ายหนังช้าง อายุประมาณ 250-280 ล้านปีมีหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป บางบริเวณยังพบลักษณะเป็นม่านหินย้อย (drapery) ที่พอกออกมาจากผนังถ้ำ ถ้ำสุวรรณคูหาประกอบไปด้วยถ้ำหลายถ้ำอยู่รวมกัน 9 ถ้ำ                 ถ้ำสุวรรณคูหามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมชมจำนวนมาก  มีที่ขายตั๋วสำหรับนักท่องเที่ยวและมีป้ายห้ามแต่งตัวไม่เหมาะสม  มีการติดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง และถ้ำมืด  บางส่วนของถ้ำมีการปรับพื้นถ้ำทำเป็นพื้นคอนกรีต

ตำนานความเชื่อ

          มีศิลาจารึก ของพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี ณ ถ้ำใหญ่ เป็นอักษรไทยโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 4) แต่งเป็นร้อยแก้ว  ทำเป็นรูปใบเสมาจากหินชนวน  ขนาดกว้าง 85 เซนติเมตร และสูง 100 เซนติเมตร  สภาพสมบูรณ์  เป็นบันทึกของพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี ที่ให้จารึกไว้คราวที่บูรณะวัดสุวรรณคูหา เมื่อ พ.ศ. 2401

          เนื้อความในจารึกกล่าวถึง “ในปี พ.ศ. 2401  พระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง  ได้มีดำริให้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างวิหารขึ้น  โดยจ้างช่างชาวจีนและไทย  ให้สร้างพระพุทธไสยาสน์องค์หนึ่ง  พระนาคปรกองค์หนึ่ง พระพุทธนิพพานองค์หนึ่ง และสัปปรุษทายก  และมีชาวบ้านสร้างพระพุทธรูปหลายองค์ตามเชิงถ้ำ  มีการประดับเพดานถ้ำด้วยเครื่องถ้วย  ฐานพระปรางค์มีพระพุทธรูป 5 องค์  และเก็บอัฐิญาติๆ ไว้ในพระปรางค์  มีการทำทานและเทศนาธรรม ฉลองที่บูรณะวัดสำเร็จ”

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

         

           ประวัติการศึกษาทางโบราณคดี

เมื่อปี พ.ศ. 2401 พระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี  ได้ทำการปฏิสังขรณ์วัดและสร้างวิหาร พระอาราม พระอุโบสถ และใบเสมา พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปต่างๆ ขึ้นด้วย

ปี พ.ศ. 2498 เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคูหา  ได้ค้นพบและเก็บรักษาโบราณวัตถุจากการลักลอบขุดเอาดินปุ๋ยของชาวบ้านที่ถ้ำสุวรรณคูหา

ปี พ.ศ. 2510 นายไบรอัน อัลเบอร์ต พีค๊อค (Brian A.V. Peacook) แห่งมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย  และนายพิสิฐ เจริญวงศ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร  ได้ทำการขุดทดสอบทางโบราณคดีบริเวณพื้นดินใกล้ผนังหน้าบริเวณที่มีจารึกพระนาม  พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าถ้ำสุวรรณคูหาเคยเป็นที่อยู่อาศัยมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ปี พ.ศ. 2511 นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร  ได้เข้ามาสำรวจทางโบราณคดี

ปี พ.ศ. 2524 - 2526 นายปรีชา นุ่นสุข  ได้สำรวจทางโบราณคดีและศึกษาโบราณวัตถุที่เก็บไว้ภายในวัด

ปี พ.ศ. 2526  เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจทางโบราณคดีและทำผังถ้ำเพิ่มเติม

 

           หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

ถ้ำสุวรรณคูหามีการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  สมัยอยุธยาโดยใช้เป็นที่ตั้งของวัด  และในสมัยรัตนโกสินทร์มีการสร้างปรับปรุงให้เป็นวัดอย่างสมบูรณ์

 

1. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

จากการขุดค้นภายในถ้ำและบริเวณหน้าวัดสุวรรณคูหาพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัด  ขวานหินมีบ่า  เครื่องมือสะเก็ดหิน  เครื่องมือหินกะเทาะ  กำไลหิน  หินบด  หินดุทำด้วยดินเผา  กำไลเปลือกหอย  เศษภาชนะดินเผา  ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์  ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์  ลูกปัดหินคาร์เนเลียน  และซากเรือสำเภา เป็นต้น 

การที่พบโบราณวัตถุหน้าวัดสุวรรณคูหาเนื่องจากสมัยพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี  ได้ทำการบูรณะวัดสุวรรณคูหาจึงได้นำดินจากในถ้ำออกไป  ทำให้โบราณวัตถุเคลื่อนย้ายออกไปพร้อมกันด้วย

ปัจจุบันหลักฐานบางส่วนเก็บไว้ในตู้จัดแสดงและอาคารพิพิธภัณฑ์วัดสุวรรณคูหา  ซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าอาวาสวัดสุวรรณคูหา           อย่างไรก็ตามจากการสำรวจถ้ำสุวรรณคูหา เมื่อวันที่ 22 - 23 มกราคม 2559 ไม่พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนผิวดินภายในถ้ำสุวรรณคูหาเลย

 

2. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์

          หลักฐานในสมัยประวัติศาสาตร์ที่พบ คือ พระปรมาภิไธย  พระนามาภิไธย  พระปรางค์  ศิลาจารึกของพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี  และพระพุทธรูปต่างๆ

 

          โบราณวัตถุของวัด ที่ระบุในหนังสือวัดสุวรรณคูหา จังหวัดพังงา  ของพระครูวินัยสารนิเทศก์  พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2520 ประกอบด้วย

  • พระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่ 1 องค์
  • พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัย 1 องค์
  • พระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจากหินอ่อน 2 องค์
  • พระพุทธรูปปางรำพึง ปางถวายเนตร ปางนาคปรก อย่างละ 1 องค์
  • พระพุทธรูปปางมารวิชัย 14 องค์
  • พระปางป่าเลไลยก์ พระไสยาสน์ อย่างละ 1 องค์
  • พระปางปรินิพพาน 11 องค์
  • พระกัสสปะยืน 1 องค์
  • พระพุทธบาทจำลอง ลงรักปิดทอง 1 องค์
  • พระปรางค์ บรรจุอัฐิตะกูล ณ ตะกั่วทุ่ง 1 องค์
  • สิงโตจีนกระเบื้อง 9 ตัว
  • ศิลาจารึก ของพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี 1 แผ่น
  • ใบเสมา 8 ใบ
  • ปานประตูถ้ำ 2 แผ่น
  • พระเจดีย์ขนาดเล็ก บริเวณปากถ้ำ 1 องค์

 

 จากการขุดค้นภายในถ้ำและบริเวณหน้าวัดสุวรรณคูหาพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัด  ขวานหินมีบ่า  เครื่องมือสะเก็ดหิน  เครื่องมือหินกะเทาะ  กำไลหิน  หินบด  หินดุทำด้วยดินเผา  กำไลเปลือกหอย  เศษภาชนะดินเผา  ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์  ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์  ลูกปัดหินคาร์เนเลียน  และซากเรือสำเภา เป็นต้น 

การที่พบโบราณวัตถุหน้าวัดสุวรรณคูหาเนื่องจากสมัยพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี  ได้ทำการบูรณะวัดสุวรรณคูหาจึงได้นำดินจากในถ้ำออกไป  ทำให้โบราณวัตถุเคลื่อนย้ายออกไปพร้อมกันด้วย

ปัจจุบันหลักฐานบางส่วนเก็บไว้ในตู้จัดแสดงและอาคารพิพิธภัณฑ์วัดสุวรรณคูหา  ซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าอาวาสวัดสุวรรณคูหา           อย่างไรก็ตามจากการสำรวจถ้ำสุวรรณคูหา เมื่อวันที่ 22 - 23 มกราคม 2559 ไม่พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนผิวดินภายในถ้ำสุวรรณคูหาเลย

 

 

                        

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

1) สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำ

เป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่ในหินปูนอายุเพอร์เมียน บริเวณปากถ้ำจะแสดงลักษณะของหินโดโลไมต์ คือบริเวณผิวจะมีรอยแตกคล้ายหนังช้าง อายุประมาณ 250-280 ล้านปีมีหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป บางบริเวณยังพบลักษณะเป็นม่านหินย้อย (drapery) ที่พอกออกมาจากผนังถ้ำ

2) สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ

ถ้ำสุวรรณคูหา : ประเภทของถ้ำภูสุวรรณคูหาส่วนใหญ่เป็นถ้ำแห้ง (dry cave) ตั้งอยู่ที่ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งกลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมียน (Permian: Pr) (รูปที่ 4-) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูน (Limestone) หินปูนโดโลไมต์เนื้อสีเทาจาง (Dolometic Limestone) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 250-300 ล้านปี แนวโถงถ้ำมีความยาวรวม 141.61 เมตร ประกอบด้วย ถ้ำพระ ถ้ำแจ้ง และถ้ำมืด เป็นโถงที่มีแนวต่อกัน มีทิศทางการวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 30 เมตร (รูปที่ 4-) ถ้ำสุวรรณคูหาประกอบไปด้วยถ้ำใกล้เคียงอีกหลายถ้ำ ได้แก่ ถ้ำครัว ถ้ำผาสุข ถ้ำน้ำ แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินงอก หินย้อย เสาหิน และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่ม พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า ระดับน้ำภายในถ้ำในอดีต หินถล่ม

 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

           1 การสำรวจพรรณพืช  พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจบริเวณถ้ำสุวรรณคูหาเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ผลัดใบ ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 138 ต้น โดยต้นไม้ทั้งหมดสามารถระบุชนิดพันธุ์ได้ 22 ชนิด ไม่สามารถระบุชนิดพันธุ์ได้ 1 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ ขี้แรด (Streblus ilicifolius (Vidal) Corner) เหยื่อกระจง (Balakata baccata (Roxb.) Esser) ลำแพน (Duabanga grandiflora (DC.) Walp.) มาย (Commersonia bartrumia) และสมุยเขา (Micromelum minutum (G.Forst.) Wight & Arn.) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 112.69, 27.60, 24.25, 16.62 และ 15.16 ตามลำดับ (ตารางที่ 3)  พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 3-20 เมตร โดยพันธุ์ไม้ที่สูงที่สุดที่ 20 เมตร มี 2 ชนิด คือ ต้นสมุยเขา และต้นลำแพน ในขณะที่ต้นไม้ที่มีเส้นรอบวงมากที่สุด 276 และ143 เซนติเมตร คือ ต้นเหยื่อกระจงและต้นลำแพน ตามลำดับ จากตารางดัชนีค่าความสำคัญ  พบว่า ขี้แรดซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ถ้ำสุวรรณคูหา เนื่องจากเป็นชนิดพันธุ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป มีจำนวนมาก แต่มีขนาดลำต้นไม่ใหญ่มากนัก ในขณะที่ต้นเหยื่อกระจงและลำแพนเป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้น้อย แต่มีลำต้นขนาดใหญ่ จึงกลายเป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าความสำคัญเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ  สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำสุวรรณคูหามีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 1.82 ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับความหลากหลายทางชีวภาพของถ้ำเขาปินะที่มีค่า 1.85 ถึงแม้ว่าจำนวนแปลงและขนาดของพื้นที่ศึกษาที่ถ้ำสุวรรณคูหาจะมากกว่าถ้ำเขาปินะ แต่สาเหตุที่ถ้ำสุวรรณคูหามีค่าความหลากหลายทางชีวภาพของสังคมพืชต่ำกว่าถ้ำเขาปินะทั้งที่มีจำนวนชนิดพันธุ์มากกว่า อาจเนื่องมาจากความหนาแน่นและโอกาสที่จะพบพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมีน้อยกว่าของพันธุ์ไม้ที่พบได้ที่ถ้ำเขาปินะ

            2 สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำถ้ำที่สำคัญ ได้แก่ ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว เนื่องจากภายถ้ำประกอบด้วยโถงล่างที่มีพระพุทธไสยาสน์ ในบริเวณนี้ พบว่าไม่ปรากฎสิ่งมีชีตภายในถ้ำ ส่วนโถงถ้ำในระดับพื้นที่ที่สูงขึ้น พบว่าบริเวณที่ทางวัดใช้อุปกรณ์กั้นบริเวณโถงเล็กด้านใน ยังมีค้างคาวอาศัยอยู่ นอกจากนี้ ตามโถงถ้ำ อื่นๆ ยังพบสิ่งมีชีวิตประเภท งู และสัตว์ ครึ่งบกครึ่งน้ำ อาศัยอยู่

สำหรับสิ่งมีชีวิตภายนอกถ้ำที่เป็นสัญญลักษณ์ของที่นี่คือ ฝูงลิงจำนวนมาก 

ประเภทการใช้ประโยชน์

           ถ้ำสุวรรณคูหา เป็นลักษณะหินปูนที่โดดอยู่ท่ามกลางพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งที่อยู่อาศัย ในตำบลกระโสม  พบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่นี้ จำแนกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุมประมาณร้อยละ 44 พื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมประมาณ ร้อยละ 37 ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่อื่นๆ  

การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ

          การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ ถ้ำสุวรรณคูหา ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม คือ ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชหลัก นอกจากนี้ยังพบการปลูกไม้ยืนต้น และไม้ผล แทรกระหว่าง ยางพารา เช่น มังคุด ลองกอง และ กล้วย เป็นต้น  ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไป สำหรับกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่พบกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อถ้ำสุวรรณคูหา

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

          ถ้ำสุวรรณคูหานี้ชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า "วัดถ้ำ" เป็นถ้ำที่ น่าสนใจและมีความสำคัญ ที่สุดของจังหวัดพังงาเนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดีเขาลูกนี้มีถ้ำใหญ่น้อยหลายแห่ง ถ้ำที่สำคัญได้แก่ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมือและถ้ำแก้ว ถ้ำใหญ่อยู่ตอนล่างสุด เวลาเข้าถ้ำจะต้องผ่านถ้ำนี้ก่อนเสมอ มีขนาดใหญ่กว่าถ้ำอื่น กว้างประมาณ 20 เมตรเศษ ยาวประมาณ 40 เมตรเศษ พื้นถ้ำเรียบ เพดานโค้งครึ่งวงกลมเหมือนประทุนเรือ ตลอดความยาวของถ้ำประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง ถ้วย จานเชิงลายครามและเบญจรงค์ ชนิดขนาดต่างๆ ถ้ำใหญ่ใช้เป็นวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นต่างๆ ประดิษฐานอยู่จำนวนหลายองค์ ที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ ขนาดยาว 7 วา 2 ศอก องค์หนึ่งมีความสวยงามมาก นอกจากนั้นยังมีพระปรมาภิไธยย่อของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์หลายพระองค์

โครงการพัฒนา

           จากการพุดคุยกับทางพระสงฆ์ที่รับผิดชอบดูแลในการบริหารจัดการถ้ำสุวรรณคูหา พบว่ายังไม่มีการจัดทำแผนที่ชัดเจน ในส่วนของร้านค้า มีการเก็บค่าเช่าพื้นที่ ร้านค้าบางร้านต้องการไฟฟ้า แต่ทางวัดยังไม่มีแผนที่จะดำเนินการให้ จึงพบว่าร้านขายเครื่องดื่มที่ต้องการใช้ไฟฟ้า ในการประกอบกิจการต้องนำเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมาเอง นอกจากนี้การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอาจยังไม่ชัดเจน จากการสอบถาม ผู้ที่เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมถ้ำสุวรรณคูหา กล่าวว่า ทางวัดได้ใช้เงินที่ได้จากค่าธรรมเนียม เข้าชมถ้ำสุวรรรคูหา รายได้จากการบริจาค และค่าเช่าที่จากร้านค้า ไปจัดสรรในเรื่องทุนการศึกษาให้กับนักเรียนของโรงเรียนถ้ำสุวรรณคูหา 

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

          เนื่องจากถ้ำสุวรรณคูหาเป็นถ้ำที่มีชื่อเสียงใน จ. พังงา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศรู้จักอย่างแพร่หลาย และเป็นสถานที่หนึ่ง ที่บริษัทนำเที่ยวจะแวะที่ถ้ำสุวรรณคูหา สิ่งก่อสร้างที่อำนวยความสะดวกในบริเวณพื้นที่นี้ ค่อนข้างพอเพียง แต่ยังขาดความเป็นระเบียบ ร้านค้าเป็นเพิง สำหรับห้องน้ำมีจำนวนมาก แยกระหว่างห้องน้ำผู้ชายและผู้หญิง มีกล่องรับบริจาค เขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตั้งอยู่ด้านหน้า การเก็บและจัดการขยะ ถึงแม้ว่าทาง องค์การบริหารส่วนตำบลจะมาเก็บขยะ แต่ยังพบว่ามีขยะตกหล่น อยู่พอสมควร                                                                    

          เนื่องจากถ้ำสุวรรณคูหาเป็นวัดพระที่โดดเด่น ดังนั้นในตัวโถงถ้ำแรกที่มีพระพุทธรูป ปางต่างๆ ประดิษฐานจำนวนมาก จึงพบป้าย จุดขายตั๋ว และวัตถุมงคล ภายในโถงถ้ำที่ หนึ่ง จำนวนมาก

 

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -