สถานที่ตั้ง

จังหวัด ตรัง อำเภอ อำเภอห้วยยอด ตำบล นาวง 92210

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ถ้ำ

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

           ถ้ำเขาปินะเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำตรัง   บริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขาปินะ  ทิศตะวันออกของเขา   ปินะติดคลองเล็กๆ  ในอดีตคาดว่าเขาปินะน่าจะเป็นที่ราบไปจดทะเลและคงมีป่าชายเลนมาจรดเชิงเขา  เนื่องจากเคยขุดพบสมอเรือโบราณในทุ่งบริเวณเขาลูกนี้  เขาปินะประกอบด้วยถ้ำหลายถ้ำ  ลักษณะภายในเป็นโพรงสามารถเดินทะลุถึงกันและทะลุออกหน้าผาชันหลายช่อง  มีบันไดคอนกรีตลัดเลาะไปตามระดับความสูงของถ้ำ  มีการติดไฟฟลูออเรสเซนต์และเดินสายไฟโยงไปตามที่ต่างๆ ในถ้ำ  บางถ้ำมีการปรับระดับพื้นและทำพื้นปูนซีเมนต์  

ตำนานความเชื่อ

           มีตำนานกล่าวถึงการสร้างพระพทุธรูปว่า  พระภิกษุสงฆ์และอุบาสกจากเมืองไทรบุรีที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ได้โดยทางโดยเรือมาบูชาและบูรณะพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช  แต่เมื่อมาถึงตำบลนี้ได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าจันทรภาณุได้บูรณะพระบรมธาตุเสร็จแล้ว  จึงได้หยุดพักแรมที่บริเวณเขาปินะและได้รวมกันสร้างพระพุทธรูปขึ้น 5 องค์  พร้อมทั้งนำทรัพย์สินบรรจุไว้ภายในเพื่อเป็นพุทธบูชา

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่ถ้ำเขาปินะ  เป็นหลักฐานในสมัยก่อนประวัติศาสาตร์และสมัยปัจจุบัน  เช่น  ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์  กระดูกสัตว์  เปลือกหอย  ชิ้นส่วนหม้อสามขา  พระพุทธรูป  และรูปปูนปั้น ฯลฯ  อันแสดงให้เห็นถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

 

1. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

เนื่องจากแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาปินะเป็นชุมชนที่ราบริมแม่น้ำตรัง  ในอดีตคงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์  เนื่องจากพบหลักฐานในสมัยก่อนประวัติศาสาตร์ ได้แก่  ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์  ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์  เศษเปลือกหอย  เศษแกลบข้าว  และชิ้นส่วนหม้อสามขา เป็นต้น

แต่จากการสำรวจถ้ำเขาปินะ  เมื่อวันที่ 20 - 21 มกราคม 2559  พบว่าปัจจุบันภายในถ้ำไม่พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์เลย  ส่วนโบราณวัตถุที่เคยพบถูกจัดเก็บไว้ที่กรมศิลปากร จังหวัดภูเก็ต

 

2. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์

พบหลักฐานจำพวกเปลือกหอยและกระดูกสัตว์อยู่ตามพื้นถ้ำ  สันนิษฐานว่าชาวไทรบุรีที่เรือแตกคงขึ้นมาอาศัยที่ถ้ำนี้  และจากการขุดค้นทุ่งบริเวณใกล้เขาปินะพบสมอเรือโบราณด้วย  ที่สำคัญการพบเปลือกหอยทะเลติดอยู่ที่ผนังถ้ำแสดงให้เห็นถึงการลดระดับลงของน้ำทะเลในอดีต

นอกจากนั้นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ของมนุษย์ปัจจบันคือพระพุทธรูปต่างๆ  และการเสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์และเจ้านายที่ถ้ำเขาปินะแห่งนี้

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

1) สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำ เป็นภูเขาหินปูนแต่ละชั้นเป็นโพรงหรืออุโมงค์ให้ลมพัดผ่านทะลุถึงกันได้ประกอบไปด้วยถ้ำต่าง ๆ จำนวนหลายถ้ำสามารถผ่านทะลุถึงกันได้ แต่ละชั้นเป็นบันไดทอดกันไปแต่ชันมาก ในพื้นที่เขาปินะมีถ้ำทั้งหมด 8 แห่ง

2) สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ

         ประเภทของเขาปินะเป็นถ้ำแห้ง (dry cave) ตำแหน่งถ้ำตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นหินปูนเขาลูกโดด ลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งกลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมียน (Permian: Pr) (รูปที่ 4-) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูน (Limestone) หินปูนโดโลไมต์เนื้อสีเทาจาง (Dolometic Limestone) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 250-300 ล้านปี แนวโถงถ้ำชั้นบนมีความยาวรวม 269.88 เมตร มีทิศทางการวางตัวอยู่ในแนว N40E สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 50 เมตร ชั้นที่ 2 ความยาวรวม 68.78 เมตร มีทิศทางการวางตัวอยู่ในแนว N58E สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 33 เมตร (รูปที่ 4-) แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินงอก หินย้อย เสาหิน และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ ดินเหนียว พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า ระดับน้ำภายในถ้ำในอดีต การเกิดหลุมยุบในถ้ำ การทรุดตัวของพื้นถ้ำ (ภาคผนวก)

 

 

 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

1.การสำรวจพรรณพืช     พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ผลัดใบ ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 38 ต้น จาก 12 ชนิดพันธุ์ โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ สะเดาช้าง (Azadirachta excelsa (jack) Jacobs) ปอหูช้าง (Firmiana colorata (Roxb.) R.Br.)) ไม้ดำ (Diospyros transitoria Bakh.) แคหางค่าง (Fernandoa adenophylla (Wall. ex G.Don) Steenis) และตะแบก (Lagerstroemia calyculata Kurz) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 94.27, 49.57, 23.76, 20.87 และ 19.85 ตามลำดับ (ตารางที่ 2)  พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 5-20 เมตร โดยพันธุ์ไม้ที่สูงที่สุด 20 เมตร จำนวน 3 ต้น เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ได้แก่ ต้นเหรียญ พลาเข และปอหูช้าง ที่มีเส้นรอบวงที่ระดับความสูงเพียงอก 170, 150 และ 209 เซนติเมตร ตามลำดับ จากตารางแสดงค่าดัชนีค่าความสำคัญ  พบว่า สะเดาช้างเป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าดัชนีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากสะเดาช้างเป็นไม้ที่โตไวและกระจายพันธุ์ได้ง่าย สามารถพบได้ในแปลงตัวอย่างหลายแปลง เช่นเดียวกับปอหูช้างที่กระจายพันธุ์ได้ง่ายและโตไว จึงมีค่าความสำคัญเป็นอันดับ 2 ในขณะที่ไม้ดำซึ่งเป็นไม้ดั้งเดิม จะกระจายพันธุ์และเติบโตได้ช้ากว่า จึงกลายเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเด่นเป็นอันดับที่ 3 สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำเขาปินะมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 1.85 ซึ่งหากเปรียบเทียบเพียงจำนวนชนิดพันธุ์ พบว่า ถ้ำเขาปินะมีจำนวนชนิดพันธุ์พืชที่พบน้อยกว่าที่ถ้ำภูภาเพชรมาก ในขณะที่ความหนาแน่นของจำนวนต้นไม้ต่อแปลงศึกษากลับมีค่าใกล้เคียงกัน จำนวนชนิดพันธุ์ที่น้อยกว่าจึงเป็นสาเหตุให้ถ้ำเขาปินะมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชน้อยกว่าที่ถ้ำภูผาเพชร

2 สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำ     เนื่องจากถ้ำเขาปินะ เป็นถ้ำแห้ง และมีช่องเปิดออกหลายช่องทำให้แสงแดด ลมและฝุ่นละอองจากภายนอกถ้ำพัดเข้ามาในถ้ำได้ตลอดเวลา ประกอบกับโถงถ้ำไม่กว้างขวางมากนัก จึงพบสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่จำนวนและชนิดค่อนข้างน้อย เช่น พบค้างคาว     

ประเภทการใช้ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ที่ดิน

           เนื่องจากวัดเขาถ้ำปินะ อยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชน ดังนั้นพื้นที่มากกว่าร้อยละ 90 จึงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ ร้อยละ 0.70 

การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ

          การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ ถ้ำเขาปินะ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พืชเด่น คือ ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งปลูกอยู่โดยรอบถ้ำเขาปินะ โดยมีถนน เป็นแนวกันระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่าไม้รอบถ้ำเขาปินะ  และจากการสำรวจไม่พบกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อถ้ำเขาปินะ

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

          สำหรับถ้ำเขาปินะแห่งนี้นั้น นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพที่งดงามแล้วยังเป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดีอีกด้วย เขาปินะเป็นภูเขาที่มีภูมิทัศน์งดงาม ภายในเขามีถ้ำหลายถ้ำที่มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น เพราะถ้ำโดยทั่วไปจะมีเฉพาะทางเข้าข้างในจะมืดสนิท แต่ถ้ำเขาปินะภายในเป็นซอกเป็นโพรงเดินได้ทะลุติดต่อถึงกัน และทะลุออกหน้าผาชันหลายช่อง คล้ายช่องหน้าต่าง ประตูหอคอย บางช่องสูงจากระดับพื้นดินเชิงเขากว่า ๔๐ เมตร ทุกช่องมีลมพัดโกรกเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนถ้ำที่ไม่มีช่องลม นับถ้ำเหล่านี้ได้ทั้งหมด ๘ ถ้ำ ดังนี้โดยชั้นบนสุดที่ถ้ำจำปาและถ้ำมะขามมีลานหินยื่นออกไปสำหรับนั่งชมวิวและมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ส่วนบนหน้าผามีจารึกประปรมาภิไธย ย่อ ป.ป.ร. ถ้ำเขาปินะเคยมีเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ และพระมหากษัตริย์ ได้เคยมาเยี่ยมและเสด็จประพาสทั้งสิ้น 4 ครั้ง

โครงการพัฒนา

การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน

ถ้ำเขาปินะเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร โดยมีวัดเขาปินะเป็นผู้ดูแลถ้ำ และเทศบาลตำบลนาวงสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินการเพื่อพัฒนารอบนอกถ้ำ

1) แผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำ

เทศบาลตำบลนาวงมีโครงการเพื่อพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำเขาปินะ ดังปรากฏในแผนพัฒนาสามปี พ.ศ.2557-2559  แผนพัฒนาสามปี พ.ศ.2558-2560 และ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา พ.ศ.2557-2561 

2) การมีส่วนร่วมของชุมชน 

2.1) การพัฒนา แผนพัฒนาเทศบาล

ชาวบ้านในชุมชนรอบถ้ำเขาปินะมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอแผนชุมชนไปที่เทศบาลเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนพัฒนาและแผนยุทธศาสตร์ของเทศบาลตำบลนาวง นอกจากนี้ เทศบาลเชิญตัวแทนจากชุมชนและหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมในเวทีประชาคมเพื่อจัดทำแผนของเทศบาลต่อไป

 

2.2) การจัดการเกี่ยวกับมัคคุเทศก์

ถ้ำเขาปินะ ไม่มีมัคคุเทศก์นำชม สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะและต้องการคำแนะนำ/คนนำขึ้นชมถ้ำ สามารถติดต่อเจ้าอาวาสวัดเขาปินะได้ (แต่ขณะที่เก็บข้อมูลเจ้าอาวาสเพิ่งมรณภาพ และยังไม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสใหม่) ซึ่งเจ้าอาวาส ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำจำนวนหนึ่งสามารถให้คำแนะนำและนำขึ้นชมถ้ำได้ 

 

2.3) การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมถ้ำ และ การจัดสรรรายได้จากการบริการนักท่องเที่ยว 

ถ้ำเขาปินะ ไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมถ้ำแต่อย่างใด นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

2.4) การจัดการภายในถ้ำ

เนื่องจากถ้ำเขาปินะเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร ดังนั้นการดำเนินการเพื่อพัฒนาปรับปรุงใดๆ ภายในถ้ำ ต้องขออนุญาตและผ่านความเห็นชอบจากกรมศิลปากรก่อนทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการวัดเขาปินะได้ขออนุญาตวางระบบสายไฟฟ้าภายในถ้ำ เพื่อความสะดวกในการชมถ้ำของนักท่องเที่ยว

 

2.5) การจัดการพื้นที่ใช้ประโยชน์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายนอกถ้ำ 

เทศบาลตำบลนาวงเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนงบประมาณและดำเนินการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกภายนอกถ้ำ เช่น ห้องน้ำ

 

2.6) การจัดการขยะ

เทศบาลตำบลนาวงนำถังขยะมาวางไว้ด้านหน้าถ้ำและให้รถเก็บขยะของเทศบาลมาจัดเก็บขยะเป็นประจำ นอกจากนี้ ช่วงใกล้เทศกาลงานบุญหรือวันสำคัญทางศาสนา เทศบาลจะจัดกิจกรรมทำความสะอาดและเชิญชวนชาวบ้านรอบๆ ถ้ำมาร่วมด้วย โดยติดต่อผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน (หมู่ที่ 7) ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งอาสามาร่วมทำความสะอาดถ้ำเช่นกัน

 

2.7) สื่อประชาสัมพันธ์/ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับถ้ำ 

- สื่อท้องถิ่น เช่น เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น (เช่น รายการ 5 นาที ที่เมืองตรัง ทางศรีตรังเคเบิ้ลทีวี รายการคันฉ่องส่องไทย ทางทีวีคนตรัง) ได้จัดทำรายการเพื่อแนะนำแหล่งท่องเที่ยวถ้ำเขาปินะ และ สถานีวิทยุชุมชน (เช่น คลื่น FM 94.25 MHz., FM 92.75 MHz.) ช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมเกี่ยวกับถ้ำตามที่เทศบาลตำบลนาวงส่งข่าวฝากประชาสัมพันธ์

- พิธีบวงสรวงพระปรมาภิไธยย่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จัดโดยเทศบาลตำบลนาวง พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงพระปรมาภิไธยย่อ และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์พรัพยากรธรรมชาติ แหล่งโบราณคดี และส่งเสริมการท่องเที่ยวถ้ำเขาปินะ อย่างไรก็ตาม เทศบาลไม่ได้จัดพิธีนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและความสะดวกในการจัดพิธี

- แผ่นพับงานพิธีบวงสรวงพระปรมาภิไธยย่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จัดทำโดยกองการศึกษา เทศบาลตำบลนาวง 

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

1 ภายนอกถ้ำ

เนื่องจากเขาถ้ำปินะ มีถนนรอบพื้นที่ภูเขา ดังนั้น บริเวณพื้นที่ที่ใช้เป็นลานจอดรถ ห้องน้ำ จึงอยู่ในพื้นที่วัดเขาถ้ำปินะ รวมถึง ระบบไฟส่องสว่างที่ใช้ในโถงถ้ำ ต้องมีการปิด-เปิด ไฟฟ้า จากด้านล่าง  

2 ภายในถ้ำ

เนื่องจากการเดินขึ้นไปบนโถงถ้ำแต่ละระดับถูกเชื่อมด้วยบันไดปูน ที่สร้างโดยก่อปูนขึ้นบนฐานหินเดิม ทำให้เกิดทัศนอุจาด และบดบัง รวมถึงทำลายปฏิมากรรมที่สวยงามของถ้ำ รวมทั้งการเดินสายไฟ หลอดไฟส่องสว่าง ทั้งขาดการออกแบบที่ดี รวมถึงในเรื่องความปลอดภัย

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -