สถานที่ตั้ง
จังหวัด มุกดาหาร อำเภอ อำเภอเมืองมุกดาหาร ตำบล นาสีนวน 44150
ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำ
สถานภาพ
- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)
ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำฝ่ามือแดงเป็นเพิงผาหินทราย หินด้านบนถล่มลงมา ทำให้กลายเป็นช่องทางเดินไหล่เขา เพิงผามีลักษณะยาวแต่แคบขนาดกว้าง 3 เมตร และยาวประมาณ 60 เมตร ลักษณะดินเป็นดินทราย พบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์รูปฝ่ามือ ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพอาวุธ ภาพสัญลักษณ์ และภาพอื่นๆ ที่จำแนกรูปทรงไม่ได้ ภาพเขียนสีเหล่านี้อยู่สูงจากระดับพื้นถ้ำประมาณ 5 เมตร ปัจจุบันภาพลบเลือนไม่ชัดเจน และมีการรบกวนจากปัจจุบันโดยการขีดเขียนทับลงไปบนภาพเขียนสี มีการฉาบปูนซีเมนต์บนผนังหินบางส่วนใกล้บริเวณที่พบภาพเขียนสี คาดว่าพระที่เคยมาธุดงค์ในบริเวณนี้เป็นผู้ทำ เนื่องจากในอดีตมีพระธุดงค์มาพักแรมที่นี่ จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่พบว่ามีการทำความสะอาดผนังหินและการก่อกองไฟซึ่งส่งผลต่อภาพเขียนสี นอกจากนั้นบริเวณเพิงผาใกล้เคียงถ้ำฝ่ามือแดงยังพบภาพเขียนสีด้วย
ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
เมื่อปี พ.ศ. 2467 นาย เอ.เอฟ.จี.คาร์ (A.F.G. Kerr) ได้เขียนลงวารสารสยามสมาคมเล่ม 19 ภาค 2 หน้า 144 - 145 ว่าได้พบภาพเขียนสีที่ถ้ำฝ่ามือแดง บ้านส้มป่อย ตำบลตาสีนวล อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
ภาพจากการสำรวจของนาย เอ.เอฟ.จี.คาร์ 16 ภาพ
- ภาพฝ่ามือ ใช้วิธีนำสีแดงมาทาที่ฝ่ามือก่อน แล้วทาบกับผนังถ้ำ 2 ภาพ
- ภาพฝ่ามือ ใช้วิธีการเอามือทาบที่ผนังถ้ำ แล้วพ่นสีแดง 4 ภาพ
- ภาพฝ่ามือสีเทา 4 ภาพ
- รูปคนยืนเขียนด้วยสีแดง 6 ภาพ
สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ภาพคนบางภาพเป็นแบบเงาทึบ หัวโตคล้ายโพกผ้าสวมหน้ากาก ใกล้เคียงกับภาพคนที่ผาหมอนน้อยและผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
- ภาพสัตว์คล้ายสุนัข
ต่อมาปี พ.ศ. 2505 นายเจริญ พลเตชา หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 7 สำรวจภาพเขียนสีที่ถ้ำฝ่ามือแดง พบว่าภาพเขียนสีบางส่วนถูกทำลาย และที่ผนังหินมีรอยแตกยาวประมาณ 5 เมตร
ภาพจากการสำรวจของนายเจริญ พลเตชา 8 ภาพ
- ภาพฝ่ามือ ใช้วิธีนำสีแดงมาทาที่ฝ่ามือก่อน แล้วทาบกับผนังถ้ำ 2 ภาพ
- ภาพฝ่ามือ ใช้วิธีการเอามือทาบที่ผนังถ้ำ แล้วพ่นสีแดง 4 ภาพ
- ภาพคนยืนเขียนด้วยสีแดง 2 ภาพ
และในปี พ.ศ. 2525 โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้าไปสำรวจอีกครั้งพร้อมทั้งถ่ายภาพและคัดลอกใหม่
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ
1. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบคือ ภาพเขียนสี จากการสำรวจบริเวณโดยรอบไม่พบหลักฐานประเภทอื่น โดยภาพเขียนสีที่พบนั้นอยู่ในบริเวณเพิงผาต่างๆ แต่ใกล้กันมาก คาดว่าน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่ร่วมสมัยกัน
ถ้ำฝ่ามือแดง เป็นเพิงผาที่มีลักษณะยาวไปตามไหล่เขาประมาณ 60 เมตร เพิงหาหันไปทางทิศใต้ ผนังหินบางช่วงมีรอยแตกและบางส่วนของผนังถูกฉาบปูนซีเมนต์ ภาพเขียนสีบริเวณเพิงผาของถ้ำฝ่ามือแดงจะกระจายตัวอยู่ตามมุมผนังหินต่างๆ บางส่วนอยู่ด้านบน บางส่วนหลบอยู่ในผนังหินด้านใน ซึ่งภาพบางส่วนลบเลือนไปมาก ถ้ำฝ่ามือแดงพิกรัดกริด 475230E 1819441N / Elevation 320
เนื่องจากภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำฝ่ามือแดงกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ จึงสามารถจัดกลุ่มได้ 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 - กลุ่มภาพเขียนสีบริเวณนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้กับเพิงผาถ้ำตีนแดง อยู่สูงจากพื้นดิน 6.8 เมตร เป็นภาพคนเขียนทึบด้วยสีแดง 4 คน ตรงกลางเป็นลายเส้นสี่เหลี่ยมุมด้านหนึ่งเปิด ปัจจุบันภาพบางส่วนเริ่มลบเลือน
กลุ่มที่ 2 - ภาพเขียนสีบริเวณนี้เป็นกลุ่มภาพที่สมบูรณ์ที่สุดของถ้ำฝ่ามือแดง ภาพเขียนสีที่พบอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 90 - 130 เซนติเมตร เป็นภาพมือใช้วิธีนำสีแดงมาทาที่ฝ่ามือก่อนแล้วทาบกับผนังถ้ำ ภาพฝ่ามือใช้วิธีการเอามือทาบที่ผนังถ้ำแล้วพ่นสีแดง และภาพคนยืนเขียนด้วยสีแดง ผนังบริเวณใกล้ภาพเขียนสีมีรอยขีดเขียนและรอยปูนซีเมนต์ทับลงไปบนภาพเขียนสีบางส่วน ผนังหินสูงประมาณ 196 เซนติเมตร
กลุ่มที่ 3 - เป็นเพิงหินใกล้ทางเข้าถ้ำฝ่ามือแดง พบภาพเขียนสีอยู่ริมรอยแตกของหินด้านบน กลุ่มภาพที่ชัดเจนและสามารถระบุได้คือกลุ่มภาพบริเวณริมซ้ายมือของภาพ เป็นภาพคนเขียนสีแดง
กลุ่มที่ 4 - กลุ่มภาพเขียนสีบริเวณนี้เป็นส่วนที่ติดกับปากทางเข้าถ้ำฝ่ามือแดง พบภาพเขียนสีที่ผนังหินด้านในและส่วนที่หินถล่มลงมาด้านนอก ผนังหินด้านในที่พบภาพเขียนสีนั้นอยู่ใกล้กับกลุ่มภาพเขียนกลุ่มที่ 3 เป็นภาพคนและภาพสัตว์เขียนด้วยสีแดงทึบ ส่วนอีกที่ที่พบภาพเขียนสีคือผนังหินด้านนอกของหินที่ถล่มลงมา เป็นภาพคนเขียนด้วยสีแดง
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ
1) สภาพธรณีวิทยาโดยรวม
เป็นภูเขาหินทรายบนเทือกเขาภูพาน อยู่ห่างจากหมู่บ้านส้มป่อยที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ลักษณะเป็นหน้าผา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูยาวประมาณ 61 เมตร
2) สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ
ถ้ำฝ่ามือแดง เป็นเพิงผา ตั้งอยู่ที่บ้านส้มป่อย ตำบลนาสีนวล อำเภอเมืองจังหวัดมุกดาหาร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นลานหินทรายบนเทือกเขาภูพาน ห่างจากแม่น้ำโขง กิโลเมตร มีลักษณะทางธรณีวิทยา ของกลุ่มหินทรายภูพาน ยุคครีเทเชียส (Cretaceous : K)หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยทรายเนื้อละเอียด หินทรายปนกรวด และหินทรายแสดงการวางชั้นเฉียงระดับ (Cross Bedding) มีสีขาว สีขาวปนชมพู หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 145 ล้านปี ถ้ำฝ่ามือแดง เป็นการเกิดจากรอยแตกของหินทราย และการกัดกร่อนของหินเกิดเป็นแนวเพิงผา ประกอบด้วย 4 ช่วง ทั้ง 4 เพิงผาพบภาพเขียนสีโดยมี 3 ช่วงเป็นแนวเพิงผาที่อยู่ใกล้เคียงกัน และแนวเพิงผาที่ 4 อยู่ห่างออกมาประมาณ 70 เมตร มีรายละเอียดดังนี้
1) เพิงผาป้อมยาม (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) มีแนวยาว 4.776 เมตร ลึก 3.381 เมตร และสูง 1.480 เมตร เป็นหินทรายสีขาวขนาดทรายหยาบ ค่อนข้างเหลี่ยม-ค่อนข้างมน พบคราบ FeO2 บนเพดานเพิงผา มีรอยแตก เพิงผาวางตัวอยู่ในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ (NE-SW) สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 346 เมตร พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของเพิงผา เช่น ระดับน้ำที่กัดกร่อนหินทรายในอดีต
2) เพิงผาคนดำ (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ห่างจากเพิงผาป้อมยามประมาณ 70 เมตร มีแนวยาว 25.01 เมตร ลึก 5-10 เมตร และสูงเฉลี่ย 4.2 เมตร เป็นหินทรายสีขาวขนาดทราบหยาบ ค่อนข้างเหลี่ยม-ค่อนข้างมน พบคราบ FeO2 มีรอยแตก เพิงผาวางตัวอยู่ในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก (E-W) สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 329 เมตร พบหินถล่ม รอยแตกของหิน
3) เพิงผาฝ่ามือแดง ห่างจากเพิงผาคนดำประมาณ 15 เมตร มีแนวยาว 65.115 เมตร ลึก 4-7 เมตร และสูงเฉลี่ย 2 ระดับ คือ 7 เมตร และ 2.5 เมตร เป็นหินทรายสีขาวขนาดทรายหยาบ ค่อนข้างเหลี่ยม-ค่อนข้างมน พบคราบ FeO2 บนเพดานเพิงผามีรอยแตก เพิงผาวางตัวอยู่ในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ (NE-SW) สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 320 เมตร พบหินถล่ม และรอยแตกของหินทราย
4) เพิงผารอยตีนแดง ห่างจากเพิงผาฝ่ามือแดงประมาณ 10 เมตร มีแนวยาว 45.3 เมตร ลึก 2 เมตร และสูงเฉลี่ย 6 เมตร เป็นหินทรายสีขาวขนาดทราบหยาบ ค่อนข้างเหลี่ยม-ค่อนข้างมน พบคราบ FeO2 มีรอยแตก เพิงผาวางตัวอยู่ในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ (NE-SW) สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 325 เมตร พบหินถล่ม รอยแตกของหิน
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ
การสำรวจพรรณพืช พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ผลัดใบ ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 32 ต้น จาก 12 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ รัง (Shorea siamensis Miq.) ปอเต่าไห้ (Helicteres hirsuta Lour.) พันชาด (Erythrophloeum succirubrum Gagnep.) คำมอกหลวง (Gardinia sootepensis) และมะค่าแต้ (Sindora siamensis Teijsm. ex Miq.) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 142.12, 27.00, 21.87, 20.39 และ 16.89 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 3-12 เมตร โดยพันธุ์ไม้ที่มีความสูงและความโตมากที่สุด คือ ต้นรัง (S. siamensis) จากตารางดัชนีค่าความสำคัญ พบว่า รังเป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้ง่าย มีจำนวนมาก และมีขนาดใหญ่ จึงเป็นพันธุ์ไม้เด่นที่สุดในพื้นที่นี้ ในขณะที่ปอเต่าไห้และพันชาดพบได้ในบางพื้นที่ ปอเต่าไห้มีจำนวนมากกว่าพันชาด แต่พันชาดมีขนาดลำต้นที่ใหญ่กว่า ส่งผลให้ปอเต่าไห้และพันชาดกลายเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเด่นเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำฝ่ามือแดงมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 1.93
สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำ เนื่องจากสภาพป่าไม้ส่วนมากที่ครอบคลุมบริเวณถ้ำฝ่ามือแดง เป็นป่าเต็งรังที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ จึงพบร่องรอยของสัตว์ป่า เช่น รอยเท้าหมูป่า ไก่ป่า เป็นต้น
ประเภทการใช้ประโยชน์
เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของถ้ำฝ่ามือแดง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ และเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นป่าเต็งรังที่ขึ้นอยู่บนพื้นที่หินทรายและในบางแห่งจะมีหินทรายโผล่ขึ้นมาให้เห็น ดังนั้นสภาพที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีความเหมาะสมต่อการทำการเกษตร จึงทำให้พื้นที่ไม่ค่อยถูกบุกรุกจากชาวบ้าน แต่เนื่องจากสภาพป่าเช่นนี้ อาจมีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่ได้ เช่น ไม้พยูง ดังนั้นจึงอาจมีปัญหาในเรื่องการลักลอบตัดไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ
สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ
ถ้ำฝ่ามือแดงตั้งอยู่บนเทือกเขาภูอ่างบกซึ่งเป็นภูเขาหินทราย ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 20 กิโลเมตร มีลำห้วยเล็กไหลผ่านๆ ซึ่งมีน้ำในช่วงหน้าฝน สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในช่วงหน้าแล้งจะเกิดไฟป่า และต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามเหมาะแก่การเดินทางไกลและสำรวจดูภาพสีที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมการอยู่อาศัยของคนในอดีตได้
โครงการพัฒนา
การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน
เนื่องจากถ้ำฝามือแดง อยูในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ดังนั้นการบริหารจัดการพื้นที่จึงอยู่ภาย ใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพียงอย่างเดียว ในขณะนี้ ทางกรมอุทยานฯ ยังไม่มีแผนในการบริหารจัดการถ้ำฝ่ามือแดงอย่างไร
ข้อเสนอแนะ
เนื่องจากที่ตั้งของตัวถ้ำฝ่ามือแดง ค่อนข้างอยู่ห่างไกลจากหน่วยพิทักษ์ห้วยสิงห์ และมีเส้นทางเดินจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่โดยรอบของถ้ำฝ่ามือแดงขึ้นมาสู่ตัวเพิงผาได้หลายทาง เนื่องจากภาพเขียนสีมีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดังนั้น ทางอุทยานแห่งชาติฯ ควรที่จะมีการประชาสัมพันธ์ ให้ชุมชนในพื้นที่โดยรอบ ทราบถึงความสำคัญของหลักฐาน และอาจต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันการถูกทำลายเช่น มีเครื่องกีดขวางไม่ให้ผู้มาเยือนสัมผัสภาพเขียนสีได้โดยตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องทำการปรึกษากับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ คือ ทางกรมศิลปากร เพื่อให้คำปรึกษานอกจากนี้ เส้นทางจากหน่วยพิทักษ์ที่จะมาชมถ้ำฝ่ามือแดงต้องมีการบำรุงรักษา เนื่องจากเส้นทางเดินไม่ชัดเจน ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรทำป้ายให้ชัดเจน และติดตั้งในระยะทางที่ไม่ไกลกันนัก
สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก
สิ่งก่อสร้างและการบริการ
บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์ และเส้นทางไปถ้ำฝ่ามือแดงบริเวณที่จะเริ่มต้นเดินไปที่เพิงผาฝ่ามือแดง ต้องมาจอดรถที่ บริเวณหน่วยพิทักษ์ห้วยสิงห์ บริเวณนี้จะมีที่จอดรถ และห้องน้ำ