สถานที่ตั้ง
จังหวัด หนองบัวลำภู อำเภอ อำเภอนาวัง ตำบล วังทอง 15250
ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำ
สถานภาพ
- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น
- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)
ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำเอราวัณตั้งอยู่บนภูเขาหินปูน ชาวบ้านเรียกเขานี้ว่า “ผาถ้ำช้าง” เนื่องจากลักษณะเหมือนกับช้างหมอบ และเมื่อมองจากบริเวณทางเข้าก่อนถึงวัดจะเห็นผามีลักษณะเหมือนหน้าผากของช้าง ภายในแบ่งเป็นโถงถ้ำเล็กๆ และมีค้างคาวอาศัยอยู่ เขาผาถ้ำช้างมีขนาดสูง ทอดตัวยาวสลับซับซ้อนกั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดเลยและหนองบัวลำภู
ตำนานความเชื่อ
ถ้ำเอราวัณมีตำนานเกี่ยวกับนางผมหอมเนื่องจากมีถ้ำชื่อนางผมหอมปรากฏอยู่ โดยชาวบ้านจินตนาการว่าเป็นอ่างอาบน้ำของนางผมหอม หางจระเข้ที่นางผมหอมถูกตัดขาด และขันอาบน้ำของนางผมหอม นอกจากนั้นยังมีหินงอกลักษณะคล้ายช้างหมอบ มีการนำผ้าสีมาพันและดอกไม้ธูปเทียน ชาวบ้านเรียกว่า “หินรูปพญาช้างนั่งคุกเข่า” โดยมีตำนานเล่าว่าพญาช้างตรอมใจตายจึงสาปตัวเองให้กลายเป็นหินอยู่ที่นี่
ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
ประวัติการศึกษาทางโบราณคดี
ถ้ำเอราวัณไม่มีหลักฐานว่าพบครั้งแรกเมื่อใด แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ถ้ำช้าง” ตามชื่อภูผาถ้ำช้าง ต่อมาพระครูปลัดฝั่นปาเรสโก ธุดงค์มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่เชิงเขาจึงได้สร้างวัดขึ้นเรียกว่า “วัดถ้ำช้างหรือวัดผาถ้ำช้าง” และได้มีผู้บริจาคทรัพย์สร้างช้างเอราวัณขึ้นมาบริวณเชิงบันไดขึ้นถ้ำ จึงเรียกชื่อวัดใหม่ว่าวัดถ้ำเอราวัณ และเรียกชื่อถ้ำว่า ถ้ำเอราวัณ
จากการสอบถามนางสุดาใจ นวลสว่าง เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลวังทอง พบว่ากรมศิลปากรยังไม่เคยเข้ามาสำรวจอย่างจริงจังที่ถ้ำเอราวัณ โดยทางวัดจะเป็นผู้ดูแลถ้ำ ส่วนด้านวิชาการและงบประมาณทางเทศบาลจะเป็นผู้ดูแล
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ
หลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
ถ้ำเอราวัณพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้พื้นที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ พระพุทธชัยศรีมหามุนีตรีโลกนาถและพระพุทธรูปต่างๆ นอกจากนี้ถ้ำเอราวัณยังเกี่ยวข้องกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนางผมหอมด้วย
1. ช้างเอราวัณ อยู่บริเวณเชิงบันไดก่อนขึ้นไปถ้ำเอราวัณ ที่ฐานเขียนไว้ว่า “เริ่มสร้าง 21 พ.ค. 2516” และ “สร้างเสร็จ 31 ม.ค. 2517” โดยผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้นมา
2. พระพุทธชัยศรีมหามุนีศรีโลกนาถ พระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่บริเวณปากทางเข้าถ้ำ ปางมารวิชัย ชายสังคาฏิสั้น ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านหน้ามีเชิงเทียนและพระพุทธรูปขนาดเล็ก 12 องค์ ทำปางสมาธิ เชิงเทียนสลักว่า “ศรีสุขประเสริฐ การช่าง อุดรธานี ถวาย 24 ก.ค. 28” ความสูงจากฐานถึงเศียร 14.12 เมตร ความกว้างจากฐานทั้งสองด้าน 10.28 เมตร และขนาดหน้าตักกว้าง 7.42 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2519
3. พระพุทธรูปบริเวณโถงด้านหน้า บริเวณที่เรียกว่า “พระพุทธรูปในถ้ำ” เป็นพระพุทธรูปไม้และสำริดขนาดเล็กหลายองค์ เป็นศิลปะล้านช้าง ประดิษฐานอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงายสร้างจากปูนซีเมนต์ทับบนหินงอก ความสูงจากพื้นถึงฐาน 3.57 เมตร พระพุทธรูปที่อยู่องค์กลาง เป็นองค์ใหญ่สุด สร้างจากสำริด ทำปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ที่ฐานเขียนว่า “พระจันโทปมาจารย์ 13 เม.ย. 2513”
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ
1) สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำ เป็นหินปูน สีเทา เป็นชั้นหนาและหนามาก อยู่ในหน่วยหินผานกเค้า อายุช่วงล่าง-ช่วงกลาง เพอร์เมียนหรือประมาณ 286-258 ล้านปี
2) สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ
ประเภทของถ้ำเอราวัณเป็นถ้ำกึ่งแห้ง เนื่องจากบางส่วนยังมีการเกิดของหินงอก และหินย้อยอยู่ และบางส่วนแห้งแล้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลวังทอง อำเภอเอราวัณ จังหวัดหนองบัวลำภู มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคเพอร์เมียน (Permian: P1) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูน (Limestone) หินปูนโดโลไมต์เนื้อสีเทาจาง (Dolometic Limestone) หินปูนที่มีเชิร์ตแทรกตามแนวรอยแตก (Limestone and Chert Nodule) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 250-300 ล้านปี พบซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลจำนวนมากพวกพลับพลึงทะเล (Crinoids) ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 341 เมตร และปากปล่องแสงอีกฝั่ง (จุดชมวิว) สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 448 เมตร แนวโถงถ้ำมีความยาวรวม 368.4 เมตร ประกอบด้วย โซนถ้ำมีแสงส่องถึง และถ้ำมืด เป็นโถงที่มีแนวต่อกัน มีทิศทางการวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย เสาหิน และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก พบแนวหลุมยุบเป็นแนวยาว 31.1 เมตร ลึกเฉลี่ย 2.5 เมตร
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ
การสำรวจพรรณพืช พื้นที่ศึกษาบริเวณนี้มีชั้นดินหนา เรือนยอดโปร่ง และมีแสงส่องถึงไม้พื้นล่างได้มาก พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ผลัดใบ ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 28 ต้น และสามารถจำแนกได้เป็น 12 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ ตะคร้อ (Schleichera oleosa (Lour.) Oken) มะขาม (Tamarindus indica L.) กระถิน (Acacia sp.) อีดำ (Diospyros variegata Kurz) และเสี้ยวป่า (Bauhinia saccocalyx Pierre) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 104.68, 36.43, 33.15, 22.66 และ 22.28 ตามลำดับ (ตารางที่ 6) พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 5-14 เมตร โดยพันธุ์ไม้ที่สูงที่สุด 14 เมตร และมีเส้นรอบวงใหญ่ที่สุด 183 เซนติเมตร คือ ต้นตะคร้อ (S. oleosa) จากตารางดัชนีค่าความสำคัญ พบว่า ตะคร้อเป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าดัชนีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจาก สามารถพบได้ทั่วไป มีจำนวนมาก เติบโตได้ดี และลำต้นมีขนาดใหญ่ ในขณะที่มะขามและกระถินสามารถพบได้ยากกว่า มีจำนวนน้อยกว่า และมีลำต้นที่เล็กกว่า จึงมีค่าความสำคัญเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำเอราวัณมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 2.22 ซึ่งมากกว่าค่าความหลากหลายทางชีวภาพที่ถ้ำฝ่ามือแดงทั้งที่มีจำนวนชนิดพันธุ์เท่ากัน แต่เนื่องจากพันธุ์ไม้ที่พบที่ถ้ำเอราวัณมีความสม่ำเสมอในการกระจายพันธุ์ได้ดีกว่าที่พบที่ถ้ำฝ่ามือแดง จึงเป็นสาเหตุให้สังคมพืชบริเวณถ้ำเอราวัณมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าที่ถ้ำฝ่ามือแดง
สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำ ไม่พบในช่วงสำรวจพื้นที่ ระหว่าง เดือนกุมภาพันธ์
ประเภทการใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
เนื่องจากพื้นที่ถ้ำเอราวัณเป็นภูเขาหินปูนโดด รายล้อมด้วยพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ป่าที่ปกคลุมบริเวณภูเขาจึงมีมากนัก ประมาณ ร้อยละ 20 ซึ่งส่วนมากจะเป็นป่าผลัดใบที่ไม่หนาแน่น
การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ ถ้ำเอราวัณ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พืชหลัก คือ อ้อย ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง กิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อาจส่งผลกระทบต่อถ้ำเอราวัณ คือ ปัญหาเขม่า และควันไฟ จากการเผาในไร่อ้อย เนื่องจากบริเวณโดยรอบถ้ำเอราวัณส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สำหรับปลูกอ้อย
สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ
ถ้ำเอราวัณเป็นถ้ำขนาดใหญ่มีบันไดเรียงคดโค้งไปมา จากเชิงเขาเบื้องล่างขึ้นสู่ปากถ้ำกว่า 600 ขั้น มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อยู่บริเวณปากถ้ำ มองเห็นได้เด่นชัดจากระยะไกล ภายในถ้ำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ที่เป็นสถานที่แห่งตำนานนิยายพื้นบ้านเรื่อง “นางผมหอม” มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ถ้ำเอราวัณแห่งนี้นั้นแต่เดิมมีชื่อว่า “ถ้ำช้าง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกตามภูเขาถือผาถ้ำช้างซึ่งพระครูปลัดฝั้น ปาเรสโกได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างขึ้นเป็นวัดซึ่งต่อมาเรียกว่าวัดถ้ำช้างโดยได้สร้างไว้บริเวณบันไดทางขึ้นถ้ำอันเป็นที่มาของชื่อวัดถ้ำเอราวัณ ภายในบริเวณดังกล่างนั้นมีสิ่งที่สนใจที่มีความสวยงาม อันได้แก่ หลวงพ่อพระพุทธชัยศรีมุนีศรีโลกนาถอันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์คู่บ้านคู่เมือง หรือจะเป็นบันไดสวรรค์ซึ่งเป็นบันไดที่จะพบตอนเดินขึ้นไปยังถ้ำ 621 ชั้นที่ลัดเลาะเลี้ยวไปตามไหล่เขาพร้อมศาลาพักชมวิวทั้งหมด 3 แห่งตลอดเส้นทางนั้น อีกทั้งยังมีกองหินวงเป็นรูปร่างคล้ายเจดีย์โดยมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาเป็นความเชื่อว่าถ้าหากใช้หินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ 9 ชั้นแล้วจะนำความโชคดีมาให้ เมื่อได้ขึ้นมาที่บริเวณบนหลังคาถ้ำก็จะได้พบกับปล่องดาว 3 ปล่องที่แสงสว่างสามารถส่องลอดเข้ามาถึงได้ เมื่อเดินต่อมาเรื่อยๆก็จะพบกับหินรูปหญาช้างนั่งคุกเข่าซึ่งมีเรื่องเล่าสืบต่อถึงที่มาว่าพญาช้างได้ตรอมใจตายและสาปตัวเองให้เป็นหิน นอกจากนี้ยังมีหินรูปทรงต่างๆอีกมากมาย อาทิ หินนางผมหอม เห็ดหิน อ่างหิน
โครงการพัฒนา
ถ้ำเอวราวัณ ขณะนี้อยู่ในความดูแลของวัดเอราวัณ ทางวัดจะมีการเก็บค่าที่ของร้านค้าในบริเวณโดยรอบ ไม่มีการเก็บค่าเข้าถ้ำ หรือผู้ที่ต้องการขึ้นไปสักการะพระพุทธรูป แต่จะมีการตั้งตู้เพื่อรับบริจาค
1. แผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำ
ไม่มีการจัดทำแผนเพื่อใช้ในการพัฒนา อย่างไรก็ตาม ทาง เทศบาล ต้องการที่จะเข้ามาช่วยในการพัฒนา แต่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับทางวัด
2. การมีส่วนร่วมของชุมชน
ทางเทศบาลมีการจัดทำโครงการมัคคุเทศก์น้อย โดยการอบรมเยาวชน ที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบถ้ำ ในแต่ละรุ่นมีเยาวชนให้ความสนใจพอสมควร แต่เนื่องจาก เยาวชนเหล่านี้ เป็นจิตอาสา ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มที่ตั้งใจทำโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือจะได้รับค่าตอบแทนจากนักท่องเที่ยว ตามที่นักท่องเที่ยวจะให้ เหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่มัคคุเทศก์น้อยไม่มีความต่อเนื่อง
3. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการถ้ำ
โดยภาพรวมอาจยังเป็นเรื่องการจัดการผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว และความเข้าใจถึงหลักการในการดูแลถ้ำเอราวัณ และความเปราะบางของถ้ำ ของทุกภาคส่วนอาจจะยังเข้าใจไม่ถูกกต้อง ดังนั้น จึงควรมีบุคคลกลางที่เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับนักวิชาการโดยเฉพาะด้านการจัดการถ้ำ มาร่วมกันช่วยในเรื่องการวางแผนการจัดการ เพื่อให้ ถ้ำเอราวัณ ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก
บริเวณด้านล่างมีร้านอาหารและที่นั่งพักไว้อำนวยความสะดวกสำหรับผู้มาเยือน นอกจากนั้นยังมีป้ายอธิบายรายละเอียดของถ้ำเอราวัณและป้ายกฎระเบียบข้อห้ามการเข้าไปชมภายในถ้ำ ซึ่งบางป้ายลบเลือนไปมาก
ภายในถ้ำมีการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าและมีไฟทางเดินตลอดทั้งถ้ำแต่ปัจจุบันบางส่วนก็ใช้งานไม่ได้ มีการประดับไฟฟลูออเรสเซนต์สีต่างๆ ตามหินงอกหินย้อย เปิดไฟตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางวัดรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และมีการปูพื้นหินตลอดทางเดินทั้งถ้ำ ทางเทศบาลเป็นผู้จัดการดำเนินงานทั้งหมดในปี พ.ศ. 2551 พร้อมทั้งเปลี่ยนป้ายเหล็กแนะนำจุดต่างๆ ซึ่งแต่เดิมเป็นป้ายไม้จำนวน 19 จุด