สถานที่ตั้ง
จังหวัด เลย อำเภอ อำเภอเมืองเลย ตำบล นาอ้อ 42100
ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำ
สถานภาพ
- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น
ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำผาปู่หรือถ้ำเพียงดินเป็นภูเขาหินปูน อยู่ในอาณาเขตวัดถ้ำผาปู่ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ เดิมเป็นเขตป่าสงวน มีถ้ำเรียงอยู่ตามแนวหน้าผา 4 ถ้ำ คือ ถ้ำผาปู่และอีก 3 ถ้ำด้านบน
ถ้ำผาปู่หรือถ้ำเพียงดิน อยู่ด้านล่างจากระดับพื้นซีเมนต์ เป็นโพรงลึกลงไปใต้ดิน เดิมมีธารน้ำไหลตลอดปี แต่ปัจจุบันแห้งขอดเพราะป่าโดยรอบถูกทำลาย ภายในมีโถงถ้ำกว้าง มีการปรับระดับพื้น ปูกระเบื้องเกือบทั้งถ้ำและบางส่วนปูพื้นซีเมนต์ มีการทำบันได มีไฟฟ้าให้ความสว่างซึ่งทางเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งมีหินงอกหินย้อยแต่บางส่วนถูกตัดออกไปเนื่องจากถูกดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถาน
ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
ประวัติการศึกษาทางโบราณคดี
เมื่อปี พ.ศ. 2475 ก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จนเมื่อปี พ.ศ.2498 หลวงปู่คำดี ปภาโส ได้ธุดงค์มาพบพร้อมกับสานุศิษย์จากจังหวัดขอนแก่น จึงได้จำพรรษาและพัฒนาเป็นที่ตั้งวัดถ้ำผาปู่
ปี พ.ศ. 2521 นายเจมส์ เพนนี นักศึกษาปริญญาเอกคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ร่วมสำรวจกับโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรมศิลปากร เริ่มมีการค้นพบภาพเขียนสีในเขตจังหวัดเลย
ปี พ.ศ. 2526 อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เข้าสำรวจและพบภาพเขียนสีอยู่บนเพิงผาวัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ
1. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ภาพเขียนสีพิกัดกริด 787669E 1945674N / Elevation 298
ภาพเขียนสีปรากฏอยู่บนเพิงผาบริเวณปากทางเข้าถ้ำพระ หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพสัญลักษณ์ เขียนด้วยสีแดงคล้ำ สูงจากพื้นประมาณ 3 - 5 เมตร ลักษณะภาพส่วนใหญ่เป็นการเขียนโครงนอกก่อนแล้วระบายทึบลงไป
2. หลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
พระพุทธรูปต่างๆ แต่ที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในถ้ำผาปู่ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปประทับยืน เป็นต้น นอกจากนี้จากข้อมูลเดิมระบุว่ามีพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างจำนวน 22 องค์ ประดิษฐานอยู่ในถ้ำ แต่ปัจจุบันไม่พบพระพุทธรูปเหล่านั้นแล้ว
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ
1) สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำ
เป็นถ้ำหินปูนเรียงอยู่ตามแนวผา 4 ถ้ำ
2) สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ
ประเภทของถ้ำผาปู่เป็นถ้ำกึ่งแห้ง เนื่องจากบางส่วนยังมีการเกิดของหินงอก และหินย้อยอยู่ และบางส่วนแห้งแล้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคเพอร์เมียน (Permian: P2) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูน (Limestone) หินปูนโดโลไมต์เนื้อสีเทาจาง (Dolometic Limestone) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 250-300 ล้านปี พบซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลจำนวนมากพวกพลับพลึงทะเล (Crinoids) ปะการังเขาควาย (Rogusa) ไบรโอซัว ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 285 เมตร แนวโถงถ้ำมี 4 โถงหลัก ประกอบด้วย โถงพระประธาน โถงพระนอน โถงพระยืน และโถงบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีความยาวรวม 241.17 เมตร เป็นโถงที่มีแนวต่อกัน แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย เสาหิน และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบรอยระดับน้ำ และโพรงบริเวณเพดานถ้ำ (Anastomosis)
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ
1. การสำรวจพรรณพืช พื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นที่ราบที่มีพืชพันธุ์ดั้งเดิมเติบโตอยู่ แปลงตัวอย่างที่อยู่ใกล้ทางเข้าถ้ำจะมีชั้นดินตื้นกว่าแปลงตัวอย่างในบริเวณที่อยู่ห่างไกลออกไป พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้ไม่ค่อยหนาแน่นมาก ทำให้แสงแดดสามารถส่องผ่านลงมาถึงพื้นล่างได้มาก พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ผลัดใบ ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 32 ต้น โดยต้นไม้ทั้งหมดสามารถระบุชนิดพันธุ์ได้ 11 ชนิด ไม่สามารถระบุชนิดพันธุ์ได้ 1 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ มะค่าโมง (Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib) มะขาม (Tamarindus indica L.) เหมือดเลือด (Glochidion daltonii (Mull. Arg.) Kurz) แคน (Shorea roxburghii G. Don) และจันผา (Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen.) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 85.79, 66.15, 22.26, 22.11 และ 20.39 ตามลำดับ (ตารางที่ 7) พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 2-18 เมตร โดยพันธุ์ไม้ที่สูงและใหญ่ที่สุด คือ ต้นมะขาม รองลงมาคือ ต้นแคน จากตารางดัชนีค่าความสำคัญ พบว่า มะค่าโมงซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เด่นที่สุดในพื้นที่นี้ เป็นชนิดพันธุ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป มีจำนวนมาก แต่มีขนาดลำต้นไม่ใหญ่มากนัก ในขณะที่มะขามเป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้น้อย แต่มีลำต้นขนาดใหญ่ จึงกลายเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเด่นเป็นอันดับที่ 2 ส่วนเหมือนเลือดจะพบได้น้อยกว่า และมีขนาดไม่ใหญ่มากจึงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเด่นเป็นอันดับที่ 3 สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำผาปู่มีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 1.99 ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับความหลากหลายทางชีวภาพของถ้ำฝ่ามือแดงที่มีค่า 1.93 โดยพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 2 พื้นที่นี้ พบว่า มีพันธุ์ไม้จากการสำรวจ 12 ชนิด เท่ากัน แต่มีการกระจายพันธุ์ไม่สม่ำเสมอ มีเพียง 1-2 ชนิดพันธุ์เท่านั้นที่สามารถพบได้ทั่วไป ในขณะที่พันธุ์ไม้อื่นพบเพียง 1 หรือ 2 ต้น เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากถ้ำเอราวัณที่มีจำนวนชนิดพันธุ์ 12 ชนิด เท่ากัน แต่มีค่าความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่า เนื่องจากมีการกระจายพันธุ์ของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดได้ดีและสม่ำเสมอกว่า
2. สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำ ยังพบค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำ
ประเภทการใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
ตำบลนาอ้อ จ. เลย มีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณร้อยละ 66 และพื้นที่ป่าไม้ประมาณร้อยละ 26 ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่อื่นๆ
การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ ถ้ำผาปู่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ จากนั้นจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ยางพารา ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ดังรูปที่ 4- และไม่พบกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อถ้ำผาปู่
สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ
วัดถ้ำผาปู่เป็นวัดที่เงียบสงบ เป็นสำนักวิปัสสนาและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและศาสนาที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะสายปฏิบัติวิปัสสนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ฝูงค่างแว่น ถ้ำต่างๆบนเขานิมิต รวมทั้งบ่อน้ำในถ้ำผาปู่ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
โครงการพัฒนา
- แผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำ
ขณะนี้ ถ้ำผาปู่อยู่ในความดูแลของวัดถ้ำผาปู ปัจจุบันทางวัดไม่มีความประสงค์ที่จะให้มีพิธีกรรมใดๆ ที่เคยปฏิบัติ ในบริเวณพื้นที่วัด ทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาอ้อ มีความประสงค์ ที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการ แต่ยังได้รับการปฏิเสธจากทางวัด
- การมีส่วนร่วมของชุมชน
เนื่องจากยังมีความไม่เข้าใจระหว่างหน่วยงานที่จะเข้ามาบริหารจัดการถ้ำผาปู่ ในขณะนี้ชุมชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
3) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการถ้ำ
เนื่องจากถ้ำผาปู่มีภาพเขียนสี ซึ่งขณะนี้อาจจัดอยู่ในสภาวะวิกฤต เนื่องจากภาพเขียนถูกทำลายและถูกปิดทับด้วยแผ่นป้าย หรือการทาสีผนังถ้ำ ดังนั้น กรมศิลปากรจึงควรเข้ามาดูแล ในส่วนนี้ และร่วมหาแนวทางที่จะให้มีการบริหารจัดการถ้ำผาปู่ ให้เป็นประโยชน์ ต่อสาธารณชนอย่างยั่งยืนต่อไป
สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก
ภายนอกถ้ำ พื้นที่รอบวัดกว้างขวาง เทปูนเกือบหมด สามารถจอดรถได้
ภายในถ้ำ ด้านในหลายบริเวณที่เทพื้นปูน และมีการทำบันไดด้วยปูน