สถานที่ตั้ง
จังหวัด ตาก อำเภอ อำเภอท่าสองยาง ตำบล แม่อุสุ 63150
ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำ
สถานภาพ
- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)
ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำแม่อุสุ ตั้งอยู่ในเขตของ อุทยานแห่งชาติแม่เมย ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นถ้ำน้ำและถ้ำบกในภูเขาหินปูน ซึ่งเกิดจากลำธารไหลเซาะ ปากถ้ำกว้าง มีเพดานสูง อากาศโปร่ง แต่ไม่มืด มีลำห้วยแม่อุสุไหลผ่าน ฤดูฝนระดับน้ำจะสูงมาก ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก ภายใน ถ้ำแม่อุสุ จะมีห้องใหญ่ๆ ด้วยกัน 3 ห้อง มีหินงอกหินย้อยที่สวยงดงาม ตอนกลางวันจะมีแสงส่องผ่านปล่องถ้ำลงมากระทบหินทราย ทำให้เกิดเป็นประกายระยิบระยับ และยังมีหินเป็นที่มีการเจริญเติบโตอยู่เยอะแยะมากมาย
ถ้ำแม่อุสุ ไม่สามารถเข้าเที่ยวชมได้ในช่วงฤดูฝน เพราะระดับน้ำในถ้ำจะขึ้นสูง ทำให้ไม่สามารถเดินเข้าไปในถ้ำได้ จึงเที่ยวได้เฉพาะในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้งเท่านั้น
ตำนานความเชื่อ
ถ้ำแม่อุสุ นั้น ถูกค้นพบเมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2530 และยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ในวันที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือวันพระจันทร์เต็มดวงนั้น ชาวบ้านจะได้ยินเสียงดนตรีดังออกมาจากภายในถ้ำ
ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
เนื่องจากถ้ำแม่อุสุไม่เป็นแหล่งโบราณคดี แต่เป็นถ้ำตามธรรมชาติ การศึกษาหรือการสำรวจจึงเป็นส่วนของการทำผังถ้ำหรือการศึกษาเกี่ยวกับถ้ำและสิ่งแวดล้อมมากกว่าการศึกษาทางโบราณคดี แต่จากข้อมูลทราบว่าถ้ำแม่อุสุถูกค้นพบก่อนปี พ.ศ. 2530 โดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ค้นพบคนแรก
หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของมนุษย์มีเพียงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การสร้างบันได ซึ่งอยู่ในสมัยปัจจุบัน และจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทราบว่าในอดีตถ้ำแม่อุสุเคยมีพระพุทธรูปวางอยู่ตามจุดต่าง ๆ ภายในถ้ำ แต่ในปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว ซึ่งพระพุทธรูปนั้นก็เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านนำมาถวายแล้ววางไว้ตามจุดต่าง ๆ
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา
มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคไทรแอสสิกตอนกลาง (Triassic : Tr2) หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูนสีเทาเข้ม (Limestone) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 230-250 ล้านปี
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ
เป็นถ้ำน้ำและถ้ำบกที่บางส่วนมีการเกิดของหินงอกและหินย้อยอยู่ แต่น้อยมาก ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 143 เมตร แนวโถงถ้ำที่เปิดให้เข้าท่องเที่ยวแล้วมีโถงเดียวมีความยาว รวม 696.66 เมตร และโถงย่อยอีกชั้นแต่ยังไม่เปิดให้ท่องเที่ยว มีความยาวรวม 228.84 เมตร ในโถงถ้ำหลักนั้นพบว่ามีปล่องแสงจำนวน 2 จุด อีกจุดหนึ่งสามารถทะลุออกอีกฝั่งได้ แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย หินย้อยหาแสง หินงอก เสาหิน หินน้ำไหล และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน และพบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (Tension Crack) นอกจากนี้ยังพบรอยระดับน้ำ หลุมยุบ และการแตกของผนัง
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ
1. การสำรวจพรรณพืช
พื้นที่มีความลาดชัน 25 - 35 องศา ดินชั้นบนสุดเป็นดินร่วน ชั้นดินบาง และมีเรือนยอดปกคลุมไม่หนาแน่นนัก บริเวณโดยรอบเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และใบยาสูบ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในแปลงสำรวจเป็นพันธุ์ไม้ที่ผลัดใบขึ้นปะปนอยู่กับไผ่ซาง ไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร หรือมีเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 21 ต้น โดยต้นไม้ทั้งหมดสามารถระบุชนิดพันธุ์ได้ 14 ชนิด และไม่สามารถระบุชนิดพันธุ์ได้ 3 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เด่นในสังคม 5 อันดับแรก คือ มะแฟน (Protium serratum) แดง (Xylia xylocarp) ตะคร้อ (Schleichera oleosa) ยมหิน (Chukrasia velutina) และมะเกว๋น (Flacourtia indica) ซึ่งมีค่าความสำคัญเท่ากับ 69.28, 37.48, 24.48, 13.96 และ 13.72 ตามลำดับ (ตารางที่ 4-96) พันธุ์ไม้ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่ 2.5-20 เมตร โดยพันธุ์ไม้ที่สูงและใหญ่ที่สุด คือ ต้นมะแฟน จากตารางดัชนีค่าความสำคัญ พบว่า มะแฟนเป็นพันธุ์ไม้เด่นที่สุดในพื้นที่นี้ เนื่องจากเป็นชนิดพันธุ์ที่มีขนาดลำต้นใหญ่ที่สุด ส่วนแดงและตะคร้อ แม้จะพบเห็นได้มากกว่าและมีจำนวนมากกว่า แต่มีขนาดลำต้นที่เล็กกว่ามาก จึงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเด่นเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ สำหรับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีภาพโดยใช้ดัชนีความหลากหลายของ Shanon-Weiner (H’) พบว่า สังคมพืชบริเวณถ้ำแม่อุสุมีค่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 2.76 ซึ่งมีค่ามากเป็นลำดับที่ 3 จากการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้บริเวณถ้ำในพื้นที่ศึกษาภาคเหนือทั้ง 4 ถ้ำ ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รอบข้างให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้ในพื้นที่ลดน้อยลง
2. สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ-นอกถ้ำ
เนื่องจากถ้ำแม่อุสุ เป็นถ้ำที่มีปล่องแสงส่องเข้าทางทางด้านหลังถ้ำ และปล่องเปิดช่วงตรงกลางถ้ำ และในช่วงฤดูฝนน้ำลำน้ำแม่อุสุที่ไหลเข้าปากถ้ำและไปออกด้านหลังถ้ำจะมีความแรงมาก ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงปิดพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยว และเนื่องจากอุทยานแห่งชาติแม่เมยประกาศหลังจากที่มีชาวบ้านหลายตำบลอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณถ้ำแม่อุสุอยู่แล้ว ดังนั้น กรมอุทยานฯ จึงอนุญาติให้ชาวบ้านใช้พื้นที่รอบ ๆ ตัวถ้ำประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามปกติ ดังนั้นสัตว์ป่าส่วนมากจึงไม่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน แต่ภายในถ้ำยังมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ประเภทการใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
ตำบลแม่อุสุตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอท่าสองยางตามเส้นทางสายแม่สอด แม่สะเรียง ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯ 13 กิโลเมตร มีจำนวนหมู่บ้านบริวาร 10 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง การคมนาคมสะดวกตามหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ทางหลวงแผ่นดินจำนวน 3 หมู่บ้าน ส่วนหมู่บ้านที่เหลืออยู่บนภูเขาสูงรถไม่สามารถเข้าถึงต้องเดินทางเท้าเข้า และเนื่องจากไม่มีแหล่งข้อมูลที่นำเสนอเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินใน ตำบลแม่อุสุ ดังนั้นจึงใช้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินใน ตำบลแม่ต้านซึ่งไม่ไกลจาก ตำบลแม่อุสุ เป็นการเปรียบเทียบ ดังได้กล่าวไปแล้วว่า พื้นที่ ส่วนมากใน อำเภอท่าสองยางได้ ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่เมย ดังนั้น จึงมีพื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมมากกว่า ร้อยละ 80
การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ
หมู่ 4 บ้านคีโน๊ะโค๊ะ ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตั้งอยู่ใกล้กับถ้ำแม่อุสุ และใช้ประโยชน์จากน้ำแม่อุสุที่ไหลผ่านหมู่บ้าน เข้าสู่ปากถ้ำและไหลออกด้านหลังถ้ำ ซึ่งจะไปผ่านที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ชาวบ้านปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน แต่ในช่วงฤดูแล้งในบางพื้นที่ที่อยู่ติดกับลำน้ำ ชาวบ้านมีการปลูกยาสูบ และมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ พื้นที่ที่ห่างไกลน้ำออกไปชาวบ้านมีการปลูกสำปะหลัง แต่เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัยเกือบทั้งตำบลแม่อุสุได้รับการอนุญาตให้เป็นที่ทำกิน เนื่องจาก ชาวบ้านได้มาอยู่ก่อนที่ทางกรมอุทยานฯ จะประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้น การทำการเกษตรแบบยังชีพของชาวบ้านจะไม่ส่งผลกระทบต่อถ้ำแม่อุสุ
สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ
ถ้ำแม่อุสุตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่เมย (ส่วนแยกแม่อุสุ) เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ เพดานถ้ำสูง มีหินงอกหินย้อย มีลำห้วยแม่อุสุลอดผ่านถ้ำ โดยเข้าสู่ปากถ้ำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไหลไปออกด้านหลังถ้ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้แล้วลงสู่แม่น้ำเมยซึ่งอยู่ห่างไป 2 กิโลเมตร ชาวปกาเกอะญอเรียกถ้ำแม่อุสุว่า “ทีหนึปู่” แปลว่าน้ำไหล
ถ้ำแม่อุสุเข้าชมได้เฉพาะฤดูหนาวและฤดูร้อนเท่านั้น เนื่องจากในฤดูฝนระดับน้ำในถ้ำจะขึ้นสูงมากจนไม่สามารถเข้าไปในถ้ำได้ ไม่มีไฟฟ้าภายในถ้ำ และที่ถ้ำไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำเนื่องจากเป็นส่วนแยก แต่จะมีชาวบ้านบริเวณนั้นเป็นไกด์พานำชมถ้ำ ซึ่งค่าตอบแทนแล้วแต่นักท่องเที่ยวจะให้
ถ้ำแม่อุสุยาวประมาณ 800 เมตร ปากถ้ำกว้างประมาณ 20 เมตร สามารถเดินทะลุออกหลังถ้ำได้ ช่วงปากถ้ำต้องเดินลุยน้ำสูงประมาณหัวเข่าเข้าไป หลังจากเดินลุยน้ำก็จะมาถึงบันไดเพื่อเข้าสู่โถงถ้ำด้านใน
โครงการพัฒนา
การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน
1. แผนการพัฒนาและบริหารจัดการถ้ำ
อุทยานแห่งชาติแม่เมยต้องการที่จะปรับปรุงห้องน้ำโดยของบประมาณในการจัดซื้อรถสุขาเคลื่อนที่ เนื่องจากว่า พื้นที่ที่เป็นห้องน้ำปัจจุบันทางกรมอุทยานฯ ได้อนุญาติให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับตัวถ้ำยังไม่มีแผนงานใด ๆ
2. การมีส่วนร่วมของชุมชน
เนื่องจากชาวบ้านหมู่ 4 ทีโน๊ะโค๊ะ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ตัวถ้ำมากที่สุด ส่วนมากเด็กจากหมู่บ้านก็จะมาเป็นไกด์นำเที่ยวถ้ำให้กับนักท่องเที่ยวที่พึ่งประสงค์จะใช้บริการ โดยการจัดการไม่ได้เป็นรูปบบทางการ ทางกรมอุทยานฯ ก็ไม่มีแผนงานและมาตรการใด ๆ จึงเป็นการเอื้อผลประโยชน์ ซึ่งกันและกัน
3. สถิตินักท่องเที่ยวถ้ำแม่อุสุ
จำนวนนักท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติแม่เมยเก็บ มิได้แยกจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในแต่ละสถานที่ของอุทยานฯ แต่อุทยานฯจะเก็บรวมเป็นสถิติรายเดือน แต่อย่างชัดเจนที่ในช่วงฤดูฝน ถ้ำแม่อุสุจะปิด ดังนั้น นักท่องเที่ยวส่วนมากที่จะมาเที่ยวที่ถ้ำจะอยู่ในช่วงประมาณ ธันวาคม ถึง เมษายน
ถ้ำแม่อุสุ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และจะปิดถ้ำในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีน้ำมากและอาจเกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยว โดยในช่วงเดือนเมษายน จะมีงานประจำปีคือ งานวันเที่ยวถ้ำ ของอำเภอท่าสองยาง (อำเภอเป็นเจ้าภาพงาน) ลักษณะของงานคือ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การแสดงของนักเรียน โดยจะจัดบริเวณสนามหญ้าหน้าถ้ำ นักท่องเที่ยวส่วนมากเป็นคนในอำเภอและเขตจังหวัด
พื้นที่รับผิดชอบของอุทยานฯบริเวณถ้ำแม่อุสุ คือ ถ้ำแม่อุสุเท่านั้น ส่วนบริเวณโดยรอบตั้งแต่สนามหญ้าหน้าถ้ำ และ พื้นที่ทางการเกษตรด้านหลัง จะเป็นของอบต.และชาวบ้าน เนื่องจากว่าอุทยานฯมาก่อตั้งหลังจากชาวบ้าน
4. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการถ้ำ
ในสถานภาพปัจจุบัน พื้นที่ตัวถ้ำได้รับการดูแลจากกรมอุทยานฯ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันคล้ายกับว่าไม่มีปัญหาอย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ทางกรมอุทยานฯ ควรที่จะมีพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรถ้ำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติได้ทราบ และควรเปิดให้มีการพัฒนาฝึกอบรมเกี่ยวกับการนำเที่ยมชมถ้ำที่ถูกวิธีการ เพราะหากนักท่องเที่ยวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และทางหน่วยงานขาดมาตรการที่จะดูแลรักษาระบบนิเวศถ้ำไว้ อาจจะเกิดปัญหาสภาพเสื่อมโทรมกับตัวถ้ำได้
สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก
สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก
เนื่องจากตัวถ้ำแม่อุสุ อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติแม่เมย กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังนั้นทางกรมฯ จึงมีหน่วยพิทักษ์ย่อยในการกำกับดูแล แต่เนื่องจากชาวบ้านทีโน๊ะโค๊ะได้เคยใช้ประโยชน์ จากถ้ำมายาวนาน และในช่วงฤดูแล้งใช้ทางเดินผ่านตัวถ้ำ เพื่อที่จะเลาะไปที่ทำกินของตนเองที่อยู่หลังถ้ำ ทางกรมอุทยานฯ เพียงแต่มาตั้งหน่วยย่อยควบคุมและเก็บค่าธรรมเนียม
1. ภายนอกถ้ำ
ภายนอกตัวถ้ำมีห้องน้ำที่อยู่ในสภาพไม่ค่อยดี เนื่องจากขาดการดูแล และ เด็กชาวบ้านทีโน๊ะโค๊ะ อาจมาช่วยกันทำความสะอาด และตักน้ำเพื่อที่จะขอรับค่าบริการจากนักท่องเที่ยว
2. ภายในถ้ำ
ในถ้ำไม่มีป้ายบอกรายละเอียด หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ