สถานที่ตั้ง
จังหวัด กระบี่ อำเภอ อำเภออ่าวลึก ตำบล อ่าวลึกใต้ 81110
ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำ
สถานภาพ
- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น
ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำ เกิดจากการรังสรรค์ของกลุ่มชนโบราณที่ใช้ชีวิตอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นป่าเป็นเขา เมื่อหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว
เป็นหลักฐานแสดงความคิด ความสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะของมนุษย์ และการสร้างสรรค์นั้นกำหนดโดยวัฒนธรรมหรือแรงบันดาลใจต่างๆ เช่น ความเชื่อทางศาสนา หรือพิธีกรรม ตลอดจนสภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิตในชุมชน ดังนั้นภาพเขียนสีบนผนังถ้ำจึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
ลักษณะเด่นของถ้ำผีหัวโต: พบภาพเขียนได้อย่างชัดเจนหลายตำแหน่ง อยู่กระจายกันเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะเด่นไม่ซ้ำกับกลุ่มอื่น จากการจัดกลุ่มของตำแหน่งภาพ สามารถแบ่งออกได้เป็น 23 กลุ่ม ทั้งในคูหาที่ 1 และคูหาที่ 2
สีที่ใช้เขียนภาพ: ภาพเขียนส่วนใหญ่ มีการใช้สีเขียนภาพหลายสีด้วยกัน ได้แก่ สีแดง สีดำ สีเหลือง บางภาพจะมีสีออกสีน้ำตาล น้ำตาลเหลือง น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้ม ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าเป็นสีที่ได้มาจากอะไร
(กรมศิลปากร, 2533)
ตำนานความเชื่อ
ถ้ำผีหัวโต หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ถ้ำผีกะโหลก" เพราะว่าเคยพบกะโหลกมนุษย์โบราณอยู่ภายในถ้ำเมื่อปี พ.ศ. 2497 ลักษณะถ้ำเป็นคูหาขนาดใหญ่ 2 คูหา ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย ที่ผนังและเพดานถ้ำปรากฏภาพเขียนสีโบราณกระจายตัวอยู่เป็นกลุ่ม มีจำนวนภาพรวมกันมากถึง 238 ภาพ ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่พบภาพเขียนสีมากที่สุดในภาคใต้ เป็นภาพบุคคลที่แสดงรายละเอียดเส้นผมและใบหน้า ภาพมือ ภาพสัตว์ คล้ายปลา นก และสัตว์อื่น ๆ ภาพเรขาคณิต และภาพเชิงสัญลักษณ์ สีที่ใช้มีหลายสี ได้แก่ สีแดง ดำ เหลือง และน้ำตาล ภาพที่โดดเด่นที่สุดอยู่บริเวณเพดานสูง ส่วนปากถ้ำ เป็นภาพคล้ายบุคคลมีเขาสวมชุดคลุมยาวถึงข้อเท้า อาจเป็นภาพผสมระหว่างคนและสัตว์ สูงประมาณ 80 เซนติเมตร
ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
ถ้ำผีหัวโต เป็นถ้ำที่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยและการประกอบกิจกรรมของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ภาพเขียนสีที่พบเป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีที่แสดงถึงการบอกเล่าเรื่องราวสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนในยุคนั้น ซึ่งได้อาศัยทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณชายฝั่งและทะเลในการดำรงชีวิต
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ
เป็นถ้ำอยู่ในภูเขาหินปูนในกลุ่มเขาถ้ำลอดใต้ ในแนวเขตเทือกเขาภูเก็ต หรือแนวเขาในกลุ่มหินราชบุรี ในยุคคาร์บอนิเฟอรัสถึง
ยุคเพอร์เมียน อายุประมาณ 230-345 ล้านปีมาแล้ว สภาพแวดล้อมเป็นป่าโกงกาง อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
ถ้ำโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเข้าไปได้หลายทิศทาง ลมสามารถพัดเข้าออกได้ตลอด ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยและ
แท่งหิน มีกองเปลือกหอยทับถมอยู่เป็นจำนวนมาก มีทางขึ้นที่ปากถ้ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ภายในถ้ำแบ่งเป็น 2 คูหาใหญ่ๆ เชื่อมต่อถึงกันได้
(สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่, มปป)
สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ
เป็นถ้ำบนภูเขาหินปูน ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับปกติประมาณ 5 เมตร และคาดว่าในสมัยก่อนน้ำทะเลคงท่วมถึง เพราะพบซากหอยอยู่ภายในถ้ำ และเมื่อก่อนมีซากของหัวกระโหลกของคน อยู่จำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว