สถานที่ตั้ง
จังหวัด กาญจนบุรี อำเภอ อำเภอศรีสวัสดิ์ ตำบล เขาโจด 71220
ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ถ้ำ
สถานภาพ
- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)
ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
เป็นถ้ำขนาดใหญ่ในภูเขาหินปูน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยปรากฏเป็นรูปต่าง ๆ มี 2 ถ้ำ คือ ถ้ำธารลอดน้อยและถ้ำธารลอดใหญ่ มีทางเดินศึกษาธรรมชาติถ้ำธารลอดน้อย-ถ้ำธารลอดใหญ่ เป็นเส้นทางลัดเลาะลำธารสลับกับภูเขา ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร
ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
ด้านประวัติศาสตร์ มีหลักฐานที่น่าสนใจ กล่าวคือ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้อยู่ในเส้นทางที่กองทัพพม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยา พบซากอาวุธโบราณ โครงรถยนต์จากตัวเมือง กระดูก เครื่องรางของขลังอยู่กระจายทั่วไป และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นก็เดินทัพผ่านบริเวณนี้เช่นกัน
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ
เป็นถ้ำหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อายุประมาณ 505-438 ล้านปี) ลักษณะหินปูนที่พบเป็นหินปูนเนื้อดินสีเทาถึงเทาอ่อน ปากถ้ำอยู่บนระดับพื้นดิน มีทางน้ำไหลผ่านตลอดความยาวของถ้ำ ภายในถ้ำพบหินงอก หินย้อย เสาหิน ม่านหินจำนวนมาก ผลึกแร่แคลไซต์ภายในถ้ำมีความใส และสะท้อนแสงสวยงามเมื่อกระทบแสงไฟ
ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ
ถ้ำธารลอดน้อยและถ้ำธารลอดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด พบสังคมพืชป่าเต็งรังปรากฏกระจายเป็นหย่อม ๆ ตามบริเวณยอดเขาล้อมรอบด้วยป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 600-1,000 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง พะยอม เหียง พลวง มะขามป้อม พืชพื้นล่าง ได้แก่ ติ้วขาว เป้ง ปรง กระเจียว เปราะ ตาเป็ดตาไก่ เครือออน หญ้าเพ็ก และหญ้าคมบางเขา เป็นต้น มีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ เช่น นกเอี้ยงถ้ำ ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ จงโคร่ง งูทางมะพร้าวลายขีด ผึ้งหลวง และลำธารที่ไหลลอดผ่านถ้ำมีปลาในกลุ่มปลาสร้อย เช่น ปลาซิว ปลาจาด ปลาซิวควายแถบด้า รวมไปถึงกุ้ง อาศัยอยู่อย่างชุกชุม ในบริเวณพื้นที่ส่วนที่เปิดโล่งติดกับป่าจะพบนกกระแตแต้แว้ด นกกระปูดใหญ่ และกบหนอง ส่วนในบริเวณพื้นที่ที่ใกล้กับหมู่บ้านและพื้นที่เกษตรกรรมจะพบ กวางป่า เก้ง หมูป่า นกปรอดหัวสีเขม่า นกอีเสือสีน้ำตาล นกตะขาบทุ่ง กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน คางคกบ้าน เป็นต้น
ประเภทการใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
เนื่องจากถ้ำธารลอดน้อยอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานเฉลิมรัตนโกสินทร์ ดังนั้นพื้นที่กว่าร้อยละ 90 จึงปกคลุมด้วยพื้นที่ป่าไม้
สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ
ถ้ำธารลอดน้อย ซึ่งมีสายน้ำไหลลอดผ่านโถงถ้ำอยู่ตลอดเวลา ภายในถ้ำมีไฟส่องสว่างตามทางเดิน ระหว่างทางจะได้พบกับหินงอกหินย้อยมากมายหลายรูปแบบดูแปลกตา เดินไปสักพักจะได้ยินเสียงเห่าของสุนัขซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่ามันจะลงมาทำอะไรในถ้ำลึกขนาดนี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว มาทราบภายหลังว่ามันคือเสียงของ “จงโคร่ง” หรือหมาน้ำ ลักษณะคล้ายกับคางคกทั่ว ๆ ไป ซึ่งหาเจอตัวเป็น ๆ ได้ยากมาก
โครงการพัฒนา
- การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน เนื่องจากถ้ำธารลอดน้อยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ และในครั้งที่ประกาศเป็นอุทยานฯ ได้มีการโยกย้ายชาวบ้านที่เคยตั้งถิ่นฐานในเขตอุทยานฯ ออกจากพื้นที่ ดังนั้น การดูแลบริหารจัดการถ้ำในขณะนี้ อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ อย่างเดียว จากบริเวณถ้ำธารลอดน้อยสามารถที่จะเดินต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเจ้าหน้าที่ป่าไม้นำทาง สามารถประสานกับทางเจ้าหน้าที่ก่อนได้ แต่โดยทั่วไปนักท่องเที่ยวจะเดินไปตามลำพังเนื่องจากเส้นทางไม่อันตราย และเป็นเส้นทางที่ขนานไปกับลำน้ำที่ไหลผ่านถ้ำธารลอดน้อยทางอุทยานฯ ได้ให้ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งปี พบว่าในปี พ.ศ. 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 32,361 คน ปี พ.ศ. 2557 จำนวนนักท่องเที่ยว 34,448 คน และปี พ.ศ. 2558 จำนวนนักท่องเที่ยว 35,716 คน จะเห็นได้ว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในเขตอุทยานฯ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทางอุทยานฯ ควรที่จะต้องทำการเตรียมความพร้อมในเรื่องสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก และรวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการรองรับของเสีย และขยะต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบัน พบว่าทางอุทยานฯยังมีศักยภาพในการบริหารจัดการ
- ข้อเสนอแนะ ถ้ำธารลอดน้อยเป็นถ้ำที่มีผู้คนมาเยือนมากซึ่งอาจส่งผลต่อระบบนิเวศในถ้ำ ภายในถ้ำมีเส้นทางเดินจึงเป็นการกำกับเส้นทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งช่วยควบคุมไม่ให้ขีดเขียนผนังถ้ำหรือออกไปบริเวณอื่น และทางเดินช่วงที่ผ่านน้ำทำเป็นตะแกรงทำให้น้ำไหลผ่านได้ดี แต่จากการสร้างฝายที่บริเวณหน้าถ้ำทำให้ตะกอนดินและหินทับถมกันสูงขึ้น ทำให้พื้นถ้ำปัจจุบันสูงขึ้นกว่าในอดีตประมาณ 3-4 เมตร กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของถ้ำจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งควรมีการจัดการดูแลอย่างถูกต้อง
สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก
สิ่งก่อสร้างและการบริการ
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว มีบ้านพักขนาด 4 คน 4 หลังบ้านพักขนาด 6 คน 1 หลัง และสถานที่กางเต็นท์ ไว้บริการนักท่องเที่ยว
- ภายนอกถํ้า อุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดสถานที่จอดรถ เป็นลานกว้างเทปูน ติดกับอาคารร้านอาหาร และจากบริเวณสถานที่จอดรถ สามารถเดินไปสู่ทางเข้าปากถ้ำ ได้สะดวก บริเวณ พื้นที่โดยรอบถ้ำ เป็นสภาพป่าไม้ตามธรรมชาติ ก่อนทางเข้าปากถ้ำมีสะพานไม้ทอดข้ามลำน้ำที่ไหลออกจากปากถ้ำ และมีห้องสุขาไว้บริการสำหรับผู้มาเยือน
- ภายในถ้ำ อุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดทำป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับประเภทถ้ำ ลักษณะของหิน แต่ป้ายค่อนข้างชำรุดและบางส่วนข้อมูลไม่ชัดเจน ภายในถ้ำทางอุทยานฯ ได้ติดตั้งแสงไฟส่องสว่าง เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเป็นผู้เปิด-ปิด และมีเส้นทางเท้าที่เทปูนเดินตลอดในตัวถ้ำ บริเวณที่เป็นจุดน้ำไหลผ่าน ทางอุทยานฯ ได้ใช้วัสดุที่ยอมให้น้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ดี เพราะเดิม ทางอุทยานฯ ใช้สะพานคอนกรีต พบว่าในช่วงที่น้ำแรง จะทำให้เกิดความเสียหายได้