สถานที่ตั้ง

จังหวัด บึงกาฬ อำเภอ อำเภอบึงโขงหลง ตำบล บึงโขงหลง 38220

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

แหล่งน้ำ

สถานภาพ

- ไม่ระบุ

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเซกาและอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ มีเนื้อที่ประมาณ 11,858 ไร่ หรือ 18.97 ตารางกิโลเมตร  บึงวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ มีลักษณะแคบและยาว จากท้องที่ตำบลบ้านต้อง ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา ถึงท้องที่ตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง ขนาดของตัวบึงยาวประมาณ 13 กิโลเมตร และกว้างสุดประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำในบึงลึกเฉลี่ยโดยประมาณ 0.50 - 1.0 เมตร ส่วนที่ลึกที่สุดประมาณ 6 เมตร     ต้นน้ำของบึงโขงหลงเกิดจากภูวัวและภูลังกาไหลมารวมกัน เดิมเป็นลำน้ำแคบๆ ไหลลงแม่น้ำฮี้ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำสงคราม และไหลลงสู่แม่น้ำโขงในที่สุด

ภายในบึงมีดอนที่สำคัญ จำนวน 5 ดอน ได้แก่ ดอนแก้ว ดอนโพธิ์ ดอนน่อง ดอนเสือตายและดอนสวรรค์ ซึ่งเกาะดอนสวรรค์เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง มีพื้นที่ประมาณ 344 ไร่   จากสภาพพื้นที่มีปริมาณน้ำตลอดทั้งปี มีดอน และมีกอสนมต่างๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ นก นกอพยพ และพืชพรรณต่าง ๆ นอกจากนี้ ชุมชนที่อยู่โดยรอบได้อาศัยประโยชน์ของแหล่งน้ำในการประกอบอาชีพทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค การประมง (ยังชีพและการค้า) เกษตรกรรมต่างๆ เช่น ทำนา ยางพารา  สวนปาล์ม และรีสอร์ท เป็นต้น รวมถึงการประกอบกิจการประเภทโรงแรมและที่พักอาศัย ทำให้บึงโขงหลงแห่งนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของสังคมพืช สังคมสัตว์ และชุมชน

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

เมื่อปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9  ทรงมีพระราชดำรัสให้กรมชลประทานสร้างฝายน้ำล้นกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง และได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2523 ในขณะนั้นสามารถเก็บกักน้ำจืดได้ประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน ในด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค แหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของนกน้ำจำนวนมากที่อพยพมาในฤดูหนาว ต่อมา ปี พ.ศ. 2525 กรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และในปี พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งที่ 2 ของประเทศ และลำดับที่ 1098 ของโลก ตั้งแต่วันที่ 5กรกฎาคม 2544 ดังนั้น บึงโขงหลงจึงมีสถานภาพเป็นทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และพื้นที่ชุ่มน้ำโลกในพื้นที่เดียวกัน

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

บึงโขงหลงเป็นบึงน้ำจืดมีลักษณะแคบยาว เกิดจากลำห้วยหลายสายมารวมกัน มีความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร และกว้างประมาณ 2-3 กิโลเมตร น้ำในบึงลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 0.5-1.0 เมตร   ส่วนที่ลึกที่สุดประมาณ ๖ เมตร แต่เดิมบึงโขงหลงสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร  แต่ปัจจุบันเกิดการตื้นเขินทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำภายในบึงลดลง ภายในบึงมีดอนที่สำคัญ จำนวน 5 ดอน ได้แก่ ดอนแก้ว ดอนโพธิ์ ดอนน่อง ดอนเสือตาย และดอนสวรรค์ ซึ่งเกาะดอนสวรรค์เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง มีพื้นที่ประมาณ 344 ไร่  จากสภาพพื้นที่มีปริมาณน้ำตลอดทั้งปี มีดอน และมีสนมต่างๆ ที่เป็นสถานที่ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ นก นกอพยพ และพืชพรรณต่างๆ ทำให้เป็นบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนที่อยู่โดยรอบได้อาศัยประโยชน์ในการประกอบอาชีพทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค การประมง (ยังชีพและการค้า)  เกษตรกรรมต่างๆ รวมถึง การประกอบกิจการที่พักอาศัย เช่น ทำนา ยางพารา สวนปาล์ม และรีสอร์ท เป็นต้น ทำให้บึงโขงหลงแห่งนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของสังคมพืช สังคมสัตว์ และชุมชน

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

บึงโขงหลงเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำตลอดปี ปริมาณของน้ำจะมากหรือน้อยเป็นไปตามฤดูกาล เป็นแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายของสังคมพืชน้ำและชนิดพืชบก สัตว์น้ำ สัตว์ป่า จากการสำรวจพบพันธุ์ไม้รอบบึง ได้แก่ ยาง ตะแบกใหญ่ ประดู่ ตะเคียนทอง ตะแบกนา แสมขาว ตีนเป็ด กันเกรา เป็นต้น  (เขตห้ามล่าฯ,2558) และพบเห็นสัตว์ป่าและพืชพรรณต่างๆ ในเขตพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ดังนี้

1) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีจำนวนไม่น้อยกว่า 12 ชนิด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำและมีพื้นที่ดอนหรือพื้นที่บนฝั่งประมาณ 458 ไร่ ดังนั้น สัตว์ป่าในกลุ่มนี้จึงพบเห็นในจำนวนที่น้อย สัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีการปรากฏร่องรอยและพบเห็นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ชะมดแผงหางปล้อง กลุ่มกระรอกกระแต กลุ่มหนู และกลุ่มกระรอกบิน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนประชากรในพื้นที่น้อยมากเนื่องจากในอดีตมีการล่าเพื่อการบริโภคเป็นจำนวนมาก และมีบางกลุ่มที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อได้รับการอนุรักษ์ที่ดี     เช่น กระรอก กระแต กระรอกบินเล็กเขาสูง และสัตว์ป่าในกลุ่มค้างคาว เป็นต้น

2) นก ไม่น้อยกว่า 249 ชนิด เป็นนกประจำถิ่น 68 ชนิด ชนิดที่สำคัญ เช่น เหยี่ยวขาว (Elanus caerleus) ไก่ป่า (Gallus gallus) นกกางเขนดง (Copsychus saularis) นกปรอดคอลาย (Pycnonotus finlaysoni) ส่วนนกที่หากินตามพื้นน้ำและชายฝั่ง เช่น นกกระสาแดง (Ardea purpurea)
นกกวัก (Amaurornis phoenicurus) นกอีแจว (Hydrophasianus chirurgus) นกอีโก้ง (Porphyrio porphyrio) เป็ดคับแค (Nettapus coromandelianus) เป็ดแดง (Dendrocygna javanica) นกเป็ดผีเล็ก (Tachybaptus ruficollis) นกยางไฟธรรมดา (Ixobrychus cinnamomeus) นกยางไฟหัวดำ (Ixobrychus sinensis) นกอัญชันคิ้วขาว (Porzana cinerea) และนกอื่นๆ อีกหลายชนิด นกที่โยกย้ายถิ่นเข้าหามากินในช่วงที่ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาวมีไม่น้อยกว่า ๑๘๑ ชนิด ที่สามารถบันทึกไว้ เช่น เหยี่ยวด่างดำขาว (Circus melanoluecos) เหยี่ยวทุ่งแถบเหนือ (Circus cyaneus) เหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเซีย (Circus aeruginosus) เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก (Circus Spilonotus) นกอีล้ำ (Gallinula chloropus) กลุ่มนกยาง กลุ่มนกจับแมลง นกแซงแซวสีเทา (Dicrurus leucophaeus) นกแซงแซวหางปลา (D. macrocerrus) และนกแซงแซวหงอนขน (D. hottentottus) เป็นต้น ส่วนนกผู้ล่าเวลากลางคืน ได้แก่ นกเค้าเหยี่ยว (Ninox sculata)  นกฮูก และนกเค้าจุด (Athene brama) เป็นต้น รวมทั้งนกที่มีบทบาทต่อระบบนิเวศที่ควรทำการศึกษาเพิ่มเติม ได้แก่ นกแสก (Tyto alba) เนื่องจากนกดังกล่าวมีส่วนในการช่วยลดจำนวน     ประชากรของหนูนาในพื้นที่เกษตรกรรม พบว่าอาศัยอยู่ในสวนปาล์มน้ำมัน แต่ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทำให้รังของนกชนิดดังกล่าวได้รับความเสียหาย และนกที่สวยงาม เช่น นกแต้วแร้วธรรมดา (Pitta moluccensis) นกเป็ดผีเล็ก (Tachybaptus ruficollis) นกอีโก้ง (Porphyrio porphyrio) นกกระสาแดง (Ardea purpure) และนกกางเขนดง (Copsychus malabaricus) เป็นต้น

3) สัตว์เลื้อยคลาน ที่พบในพื้นที่ เช่น งูสิงห์ งูเหลือม กิ้งก่าหัวแดง กิ้งก่าแก้ว กิ้งก่าหัวสีน้ำเงิน แย้ จิ้งเหลนหางยาว และตะกวด เป็นต้น

4) ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ปลาที่สำคัญที่สำรวจพบ มี ๙๗ ชนิด ชนิดที่หายากและพบใหม่ในประเทศไทย มีปลาเฉพาะถิ่น ได้แก่ ปลาบู่แคระ ปลาบู่กุดทิง ปลาซิวแคระสามจุด ปลาซิวแก้ว ปลาซิวหางกรรไกร ปลากัดอีสาน ปลาสร้อยปีกแดง ปลาเหล็กใน แต่ปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น คือ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากระสูบจุด ปลานิล และปลาขาวสร้อย สัตว์น้ำอื่นๆ ที่พบ เช่น กุ้งฝอย ปู แมลงน้ำ หอย กบ และเขียด เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 6 ชนิด โดยพบตามกอพืชน้ำอยู่ในบึง เป็นที่อยู่อาศัยของเขียดบัวและเขียดหลังขีดซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ส่วนตามบริเวณชายฝั่งรอบๆ บึงสามารถพบเขียดโม่ กบนา และอึ่งอ่างบ้าน โดยในส่วนของเต่านา (Malayemys subtrijuga) และตะพาบน้ำ (Amyda cartilaginea) มีจำนวนลดลงเนื่องจากสัตว์ทั้งสองชนิดเป็นความต้องการของผู้บริโภคและเพื่อการค้า

5) แมลง สำหรับแมลงที่พบในพื้นที่มีไม่น้อยกว่า 80 ชนิด พบแมลงในกลุ่มผีเสื้อแมลงวันและผีเสื้อกลางคืน มากกว่า 80 ชนิด เช่น ด้วงดินขลิบทอง (Mouhotia batesi) และผีเสื้อถุงทอง (Onrithoptera aeacus) เป็นต้น และสัตว์ชนิดนี้จะต้องมีการสำรวจ เพราะสัตว์ในกลุ่มแมลงเป็นดัชนีหรือตัวชี้วัดความบริสุทธิ์ของสภาพอากาศ หรือสภาพแวดล้อมในพื้นที่ด้วย รวมถึงกอสนมต่างๆ ที่มีความสมบูรณ์มากในบริเวณบึง  ทำให้เป็นเพาะพันธุ์ปลา แหล่งที่อยู่อาศัย และเป็นที่หลบภัยได้เป็นอย่างดี ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา และนกต่างๆ และนอกจากนี้พบว่าแหล่งน้ำแห่งนี้ คือ หม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่มีความสมบูรณ์และมีขนาดที่ใหญ่มาก จึงเป็นสถานที่สำคัญมากทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พืชและสัตว์ อีกแห่งหนึ่งของประเทศ

ประเภทการใช้ประโยชน์

1. การใช้ประโยชน์จากบึง พบว่าชุมชนที่อยู่โดยรอบดังที่กล่าวข้างต้น มีการใช้หรือได้รับประโยชน์ในรูปแบบเพื่อการยังชีพ เช่น การหาปลา การเก็บพืชน้ำ เช่น บัวสาย บัวหลวง และผักบุ้ง นอกจากนั้นบึงโขงหลงยังเป็นแหล่งน้ำใช้ของชุมชนทั้งด้านการเกษตร (ข้าว สวนยางพารา ปาล์ม สวนผัก) อุปโภค บริโภค และในช่วงที่ผ่านมายังไม่เคยประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ แต่บึงมีการเก็บปริมาณของน้ำลดลงเนื่องจากเกิดการตื้นเขิน

2. การใช้ประโยชน์ที่ดินริมบึง โดยเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เช่น ทำนา สวนยางพารา พืชผัก และสวนปาล์ม ที่อยู่อาศัย ร้านค้าร้านอาหาร รีสอร์ท แต่มีบางพื้นที่มีปรับพื้นที่บริเวณริมขอบบึงให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะของชุมชน เป็นที่ออกกำลังกาย ชมทัศนียภาพของบึง พักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ของชุมชน เป็นต้น  ซึ่งสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ใกล้เคียงริมขอบบึงหากไม่มีการวางแผนที่ดี หรือไม่มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ริมบึงให้ชัดเจนก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการชะล้างลงบึง ในระยะยาวส่งผลให้ระบบนิเวศในน้ำเปลี่ยนแปลงและบึงตื้นเขินได้

3. การใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวหรือนันทนาการ พบว่า มีชุมชนที่เข้าไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับกิจกรรมที่เกิดจากการท่องเที่ยวในพื้นที่บริเวณบ้านคำสมบูรณ์ เนื่องจากบริเวณริมบึงบ้านคำสมบูรณ์ มีลักษณะเด่นคือ เดิมมีหาดทรายที่ยื่นออกไปทำให้มีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเล่นน้ำมากกว่าบริเวณอื่นๆ แต่ปัจจุบันความเป็นหาดทรายของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มีให้เห็น เนื่องจากมีการท่องเที่ยวมานานกว่า 15 ปี

ประเมินผลแหล่งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ประเมินด้านคุณค่า : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินด้านศักยภาพ : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินด้านความเสี่ยง : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทแหล่งน้ำ
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -