สถานที่ตั้ง

จังหวัด ขอนแก่น อำเภอ อำเภอเวียงเก่า ตำบล ในเมือง 65000

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ซากดึกดำบรรพ์

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ในปี พ.ศ. 2532 เทือกเขาภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ได้รับการยอมรับจากคณะสำรวจโบราณชีววิทยา ไทย-ฝรั่งเศส ให้เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งที่มีซากดึกดำบรรพ์โดยเฉพาะไดโนเสาร์หลงเหลืออยู่จำนวนมาก และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย แหล่งที่พบซากไดโนเสาร์นั้น อยู่ในหมวดหินเสาขัว ซึ่งมีอายุประมาณ 150 ล้านปี หลายแห่งด้วยกัน แต่ละแหล่งช่วยเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้ง พบซากไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

ที่มา : รายงานการจัดทำแผนการจัดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติบริเวณซากไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2537

ตำนานความเชื่อ

ในสมัยอยุธยาและธนบุรี เมือภูเวียงมีฐานะเป็นเมืองป้อมหรือเมืองหน้าด่านของเวียงจันทน์ ตั้งอยู่ในเส้นทางไปมาติดต่อระหว่างเวียงจันทน์กับกรุงศรีอยุธยาตลอดจนถึงกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ

ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2314 เจ้าพระวอและเจ้าพระตาขัดใจกับพระศิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ได้อพยพครอบครัวบ่าวไพร่จากเวียงจันทน์มายังหนองบัวลำภู เมืองภูเวียงก็เป็นชุมชนที่แยกมาจากเมืองเวียงจันทน์กลุ่มเดียงกับพระวอ พระตาซึ่งเมื่อผ่านมาถึงภูเวียงเห็นว่าเป็นทำเลดี มีชัยภูมิในการป้องกันตัวเป็นพื้นที่แอ่งกะทะ มีภูเขาล้อมรอบมีทางเข้าทางเดียวจึงตั้งเมืองอยู่ที่นั่น ภายหลังพระวอพระตายังกลัวทัพเวียงจันทน์อยู่ เห็นว่าภูเวียงยังอยู่ใกล้เวียงจันทน์มากเกินไป จึงคิดอพยพไปทางใต้ไปเมืองจำปาศักดิ์ แต่ก็ยังมีประชากรส่วนหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ภูเวียง

พ.ศ. 25469 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เมื่อทำการปราบกบฏแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านภูเวียงขึ้นเป็นเมืองภูเวียง ขึ้นกับเมืองขอนแก่น แต่ไม่ปรากฏในตำนานว่าโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมือง และในคราวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์นี้เองมีเรื่องเล่าต่อมาว่า เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพปราบกบฏ เมื่อสงบราบคาบแล้วฝ่ายข้าศึกหรือนายทัพนายกองเจ้าเมืองกรมการต่าง ๆ ที่ไปเข้ากับฝ่ายกบฏ เมื่อถูกจับตัวได้จะต้องถูกลงโทษอย่างหนักตามกฏอัยการศึก คือต้องทรมานจนตาย ซึ่งสถานที่ลงโทษนี้คือปากช่องตรงทางเข้าภูเวียงนั่นเอง ดังนั้น จึงถือกันว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเหตุที่ทางการเข้าไปตั้งบ้านเมืองในหุบเขาภูเวียงนี้ ได้ความว่าเวลานั้น โจรผู้ร้ายชุกชุม เมื่อหลบหนีก็ไปซ่องสุมในภูเวียง ยากแก่การสืบจับหรือปราบปราม จึงได้ไปตั้งเป็นเมืองในเขตดังกล่าว ครั้นต่อมาเมื่อไม่นานนี้จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอภูเวียงออกมาตั้งที่บ้านนาก้านเหลือง ตำบลเรือ ห่างจากทางหลวงสายเดียวกับที่เข้าไปในภูเวียง (ตำบลในเมือง) 18 กิโลเมตร จนถึงปัจจุบันนี้

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของแหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในพื้นที่ที่ศึกษา พบว่า บริเวณภูเวียงมีการตั้งหลักแหล่งของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบภาพเขียนสีบนผนังถ้ำหลายแห่ง ตลอดจนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี และสมัยไทย-ลาวลงมา

หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าในเขตพื้นที่ภูเวียงมีการตั้งหลักแหล่งชุมชนมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ จากการพบภาพเขียนสีหลายแห่ง นอกจากนั้นบริเวณรอบนอกห่างออกไปในเขตบ้านนาดี ตำบลบ้านธาตุอำเภอภูเวียง ยังมีแหล่งโบราณคดีโนนนกทา ซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากพบหลักฐานการตั้งหลักแห่งของมนุษย์จำนวนมาก ที่เป็นกลุ่มชนคนละกลุ่มกับที่บ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานี และมีความสำคัญเก่าแก่ไม่น้อยไปกว่าบ้านเชียง และภาพเขียนสีที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น สันนิษฐานกันว่ามีอายุใกล้เคียงกับวัฒนธรรมบ้านเชียงหรืออาจมีอายุไม่เกิน 3,600 - 3,000 ปีมาแล้ว

ในสมัยทวารวดี การพบพระนอนที่ภูเวียงทำให้เห็นถึงคติการสร้างสลักพระนอนบนแผ่นผาในภาคอีสานอย่างชัดเจน เป็นคติที่พบบริเวณลุ่มน้ำชี ซึ่งมีการนับถือพระพุทธศาสนาติดต่อกันมาโดยตลอด พระนอนในลักษณะเดียวกันยังพบที่ภูปอ 2 องค์ และภูคาว 1 องค์ ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางด้านตะวันออกของภูเวียง ซึ่งกลุ่มเมืองในเขตลุ่มน้ำชีนี้ น่าจะเป็นกลุ่มเมืองที่เป็นอิสระอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสานระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 และเป็นกลุ่มที่ได้รับวัฒนธรรมส่วนใหญ่มาจากวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคกลางของประเทศไทย

ชุมชนบริเวณภูเวียงมีความหนาแน่นมากขึ้นตั้งแต่สมัยไทย-ลาว ลงมา คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 21-24 เนื่องจากพบหลักฐานที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปและเครื่องปั้นดินเผาอื่น ๆ จำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปนาคปรกที่วัดร้างบ้านหม้อ มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปนาคปรกหินทรายที่ระเบียงวัดสีสะเกด ที่เวียงจันทน์ นอกจากนั้น กล้องยาสูบดินเผาแบบที่พบที่ภูเวียงนี้ ก็พบว่ามีกระจายอยู่บริเวณภาคอีสานหลายแห่ง เช่น หนองคาย อุดรธานี นครพนม อุบลราชธานี และที่เวียงจันทน์ รวมทั้งในเขตภาคเหนือของประเทศไทยก็พบเช่นเดียวกัน

 

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

ภูมิประเทศของภูเวียง สามารถแบ่งออกเป็น 3 เขตใหญ่ ๆ ตามระดับความสูง คือ

1. ที่ลุ่มกลางแอ่ง หมายรวมถึงพื้นที่กลางแอ่งทั้งหมดที่มีระดับความสูงน้อยกว่า 250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2. เขตเชิงเขารอบใน หมายถึงพื้นที่ที่ถูกล้อมรอบด้วยสันเขาด้านใน (ระดับความสูง 500 เมตร) และเส้นระดับความสูงที่ 250 เมตร

3.เขตพื้นที่เขาสูง หมายถึง พื้นที่ทั้งหมดที่มีระดับความสูงกว่า 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ลักษณะทางธรณีวิทยาโดยทั่วไปของเทือกเขาภูเวียง ที่ได้จากการแปลความหมายจากดัชนีภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อปี ค.ศ. 1954 ประกอบด้วย หมวดหินอย่างน้อยสุด 4 หมวด คือ หินพระวิหาร  เสาขัว  ภูพาน และโคกกรวด

หินพระวิหาร ประกอบด้วย หินทรายสีขาว มีความแข็งแรงมาก มีชั้นหินทรายแป้งและหินดินดานสลับอยู่บ้าง ภูมิประเทศที่เกิดจากหน่วยหินที่มีความแข็งนี้ทำให้เกิดเป็นเขาสูงที่มีความลาดเอียงในทิศทางเดียวกับที่ชั้นหินนั้นเอียงเทและเกิดเป็นหน้าผาในทิศทางตรงกันข้าม หินเสาขัว เป็นหน่วยหินที่วางทับบนหน่วยหินพระวิหาร ประกอบด้วยหินทราบสีแดงอมม่วง มีความแข็งน้อยเมื่อเทียบกับหินพระวิหาร นอกจากนี้มีหินทรายแป้งและหินดินดานสลับชั้นอยู่เช่นกัน ปริมาณดินเหนียวในหินนี้ค่อนข้างสูง จึงทำให้หินผุสลายง่ายกว่า สะท้อนให้เห็นสภาพภูมิประเทศที่เป็นสันเขาที่มีระดับต่ำกว่าและอัตราผุสลายที่สูงกว่าหินพระวิหาร หินเสาขัวนี้ประกอบเป็นสันเขารอบในของภูเวียง

หินภูพาน เป็นหินที่วางทับบนหินเสาขัวอีกชั้นหนึ่ง แต่หินภูพานในเขตภูเวียงเกือบจะไม่เห็นเลย เพราะถูกกัดเซาะผุพังและพัดพาออกจากแหล่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังคงสามารถสังเกตภูมิประเทศที่เกิดรองรับด้วยหินนี้ได้ชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศ โดยปรากฏเป็นภูมิประเทศของเนินเขาที่เรียงยาวสอดคล้องกับสันเขาของหินเสาขัว แต่ขาดช่วงไม่ติดต่อกัน

หินโคกกรวด วางทับบนหินภูพานอีกทีหนึ่ง กระจายเป็นหย่อม ๆ ในใจกลางแอ่งภูเวียง มีอัตราการถูกกัดเซาะ ผุ พัง และพัดพาออกจากแหล่งที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหินอื่น ๆ

สามารถกล่าวโดยรวมได้ว่า ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ภูเวียง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักจากการพัดพาในอดีต แต่มีการผุสลายของหินพอสมควร

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

สภาพภูมิประเทศทั่วไปของเทือกเขาภูเวียง มีลักษณะเป็นภูเขารูปแอ่งคล้ายปล่องภูเขาไฟหรือกระทะ พื้นที่ตอนกลางของแอ่งมีลักษณะที่เป็นที่ราบและลอนลาด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนพักอาศัยของราษฎร 3 ตำบล ในความปกครองของอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ส่วนบริเวณพื้นที่โดยรอบแอ่ง มีลักษณะเป็นเือกเขาซึ่งมีมุมเทเข้าหาใจกลางแอ่ง ประกอบด้วย เทือกเขาซึ่งมีความลาดชันปานกลางถึงลาดชันสูง พื้นที่เทือกเขาส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าไม้ 2 ประเภท คือ ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง ล้อมเป็นวงอยู่สองชั้น เทือกเขาชั้นนอกสุดมียอดสูงสุดประมาณ 884 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่และเทือกเขาชั้นในสุด มียอดเขาสูงประมาณ 470 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทิศเหนือของพื้นที่ ส่วนระดับต่ำสุดของเชิงเขาอยู่ระดับ 210 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ป่าภูเวียงได้ถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2508 และได้ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2534 

ภูเวียง มีภูมิอากาศอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในบริเวณนี้จะมีฝนตกเป็นช่วง ๆ ตลอดฤดูฝน ส่วนในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวอากาศจะแห้งแล้ง 

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

สิ่งอำนวยความสะดวก : อุทยานฯ ภูเวียง มีบ้านพักเดียวแยกหลังจำนวน 1 หลังพร้อมบริการนักท่องเที่ยว และยังมีลานกางเต็นท์กว้างใหญ่ติดอ่างเก็บน้ำของอุทยานฯ ให้นักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองได้ตั้งแคมป์นอนกัน ในด้านปากท้องที่นี่ก็มีร้านค้าสลัสดิการเปิดบริการตั้งแต่เช้าตรู่บริการนักท่องเที่ยวเช่นกัน

การเดินทาง : จากตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 12 สายขอนแก่น-ชุมแพ ผ่านอำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ ถึงทางแยกไปอำเภอภูเวียง ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร ทางแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2038 ขับรถต่อไปอีกประมาณ 38 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง

ประเมินผลแหล่งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ประเมินด้านคุณค่า : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินด้านศักยภาพ : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินด้านความเสี่ยง : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทซากดึกดำบรรพ์
คุณค่าการใช้ประโยชน์
- ไม่มีรูปภาพ -
คุณค่าความสำคัญ
- ไม่มีรูปภาพ -
ผลกระทบที่พบเห็น
- ไม่มีรูปภาพ -
ลักษณะทั่วไป
- ไม่มีรูปภาพ -
สิ่งอำนวยความสะดวก
- ไม่มีรูปภาพ -
หัวหน้า
- ไม่มีรูปภาพ -
อื่นๆ
- ไม่มีรูปภาพ -
เจ้าหน้าที่
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนที่
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -