สถานที่ตั้ง

จังหวัด เชียงใหม่ อำเภอ อำเภอจอมทอง ตำบล บ้านหลวง 50160

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ภูเขา

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติท้องถิ่น

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

อ่างกาหลวงเป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นและมีสภาพป่าที่หลากหลาย มีพืชพรรณนานาชนิด และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ซึ่งจะมีหมอกปกคลุมเกือบตลอดวัน ที่สำคัญการเกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง หรือ แม่คะนิ้ง ก็สามารถพบได้บ่อยครั้ง

ตำนานความเชื่อ

ดอยอินทนนท์ ในอดีตป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้า     ผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์สุดท้าย ซึ่งพระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง และทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐบางส่วน ขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอยนี้ จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์" ซึ่งเดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา" ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่)

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

-

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

ธรณีวิทยา    ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์โดยทั่วไป ประกอบด้วยหินที่มีอายุตั้งแต่ยุคแคมเบรียนขึ้นไป และหินส่วนใหญ่จะเป็นหินไนส์และหินแกรนิต ส่วนหินชนิดอื่นๆ ที่พบจะเป็นหินยุคออร์โดวิเชียนซึ่งได้แก่หินปูน จนถึงยุคเทอร์เซียรี่ได้แก่หินกรวดมน 
ลักษณะ            ภูมิประเทศ    “เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอ่างกา” เส้นทางนี้เป็นสะพานไม้มีความยาวประมาณ 360 เมตร ซึ่งจะใช้เวลาเดินทั้งหมดไม่เกิน 30 นาที ความมหัศจรรย์ของสภาพป่าบริเวณนี้มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 2,500 เมตร และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีทำให้ระบบนิเวศในบริเวณนี้มีความแตกต่างออกไปจากพื้นที่อื่นในประเทศไทย โดยเฉพาะบางจุดที่มีลักษณะเป็นป่าดิบเขตอบอุ่น บางแห่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าพรุ มีพรรณไม้หายากหลายชนิด ที่สำคัญยังมีทัศนียภาพที่สวยแปลกตาจนสามารถกล่าวได้ว่าป่าแห่งนี้เป็นป่า ที่มีความงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ดิน    พื้นที่ภูเขาสูงส่วนใหญ่เป็นดินในกลุ่ม Reddish Brown Lateritic Soils และ Red Yellow Podzolic Soils ไม่เหมาะที่จะใช้ทำการเกษตรกรรม ควรที่จะรักษาไว้ให้คงสภาพป่า อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต่อไป
น้ำ    เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีตาน้ำ และแหล่งต้นน้ำ                  มีลำธารอยู่ตลอดเส้นทาง น้ำสายนี้จะไหลไปรวมกับสายอื่นๆ ในพื้นที่ดอยอินทนนท์
ขยะ    การจัดการขยะเป็นระบบการจัดการของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ รวมทั้งมีกฎระเบียบสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ภูมิทัศน์    ลักษณะป่าดึกดำบรรพ์ ตลอดทางเดินเราจะพบเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุนับร้อยปียืนต้นอยู่ท่ามกลางเศษซากไม้ที่ไม่ค่อยผุสลายตัวที่ทับถมกันอยู่บนดิน สัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ของพืชต้นเล็กๆ อย่างมอส “ข้าวตอกฤาษี” ที่พบเห็นได้ยาก รวมถึง "ต้นกุหลาบพันปี" ชนิดที่มีดอกสีแดงที่จะพบขึ้นอยู่บนดอยอินทนนท์แห่งเดียวเท่านั้น

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

พืชพรรณ    ป่าดิบเขาตอนบน ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,800 เมตรขึ้นไป สามารถแบ่งออกได้เป็นป่าดงดิบ-ป่าก่อชื้น ป่าดงดิบ เขตอบอุ่น และป่าพรุเขตอบอุ่น สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ และหลายแห่งจะมีลักษณะของป่าดึกดำบรรพ์ พืชพื้นล่างไม่แน่นทึบ ทำให้ตามกิ่ง ยอด และลำต้นของไม้ในป่าจะมีมอส กล้วยไม้ เฟิน กุหลาบพันปี สำเภาแดง ขึ้นปกคลุม พันธุ์ไม้ในป่าดิบเขาหรือป่าก่อชื้นได้แก่ ก่อดาน ก่อแอบ จำปีหลวง แกง นางพญาเสือโคร่ง กะทัง นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและไม้เกาะเกี่ยวเช่น คำขาว กุหลาบขาว คำแดง และยังมีต้นโพสามหาง กระโถนฤาษี เป็นต้น ในบริเวณแอ่งน้ำและรอบๆ ป่าพรุจะมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ เช่น บัวทอง พญาดง เทียน ผักหนอกดอย มะ แหลบ วาสุกรี บันดงเหลือง ต่างไก่ป่า กุง กูดขน ฯลฯ และบริเวณชายขอบป่าพรุจะมีกุหลาบพันปีสีแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเฉพาะบนยอดดอยอินทนนท์เท่านั้น 

สัตว์ป่า    สัตว์ป่าในบริเวณนี้มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกมาก ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแตธรรมดา กระเล็นขนปลายหูสั้น อ้นเล็ก เม่นหางพวง อีเห็นข้างลาย ชะมดแผงสันหางดำ นกแซงแซวเล็กเหลือบ นกปรอดหัวสีเขม่า นกเด้าดินทุ่ง เหยี่ยว เพเรกริน ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกคอแดง นกพญาไฟสีกุหลาบ กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนเรียวจุดดำ ตุ๊กแกบ้าน งูลายสอคอแดง กบห้วยสีข้างดำ เขียดหนอง อึ่งกราย คางคกเล็ก ปาดแคระฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ยังคงความสำคัญในด้านของการเป็นแหล่งของนกป่าที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นแหล่งของสัตว์ป่าที่หายาก และมีอยู่เฉพาะถิ่นอยู่หลายชนิดที่สำคัญได้แก่ หนูหญ้าดอย กระท่าง เต่าปูลู นกศิวะหางสีน้ำตาล นกปีกสั้นสีนำเงิน นกกระจิ๊ดคอสีเทา และนกกินปลีหางยาว

ประเภทการใช้ประโยชน์

มีการใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการศึกษาวิจัย เรียนรู้

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

สภาพโดยรอบเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ โดยมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติหลายเส้นทางเหมาะแก่การเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาและวิจัย

โครงการพัฒนา

-

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

-

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทภูเขา
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -