สถานที่ตั้ง

จังหวัด จันทบุรี อำเภอ อำเภอเขาคิชฌกูฏ ตำบล พลวง 22210

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

น้ำตก

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

     น้ำตกกระทิง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสูงมาก ช่วงบนเป็นผาน้ำตกที่เปิดโล่งสามารถมองเห็นน้ำตกจากบนเขาได้ในระยะไกล ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาคิชฌกูฎ มีชั้นน้ำตก 13 ชั้น ชั้นน้ำตกที่สวยงามที่สุด คือ ชั้นที่ 8 และชั้นที่ 9 ซึ่งสายน้ำไหลตกลงมาจากผาสูงชัน ส่งละอองน้ำฟุ้งกระจาย น้ำตกชั้นที่ 10    มีน้ำไหลแรงมากและไม่มีแอ่งน้ำ แต่เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มองเห็นอ่างเก็บน้ำทุ่งเพลและผืนป่าดิบชื้นที่ปกคลุมพื้นที่อย่างหนาแน่น  ชั้นที่คนนิยมแวะเล่นน้ำมากที่สุดคือชั้นที่ 3   มีตลอดปีและใสมองเห็นปลาในน้ำ ส่วนมากเป็นปลาพลวง น้ำจะขุ่นในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ในระหว่างทางจะผ่านป่าไผ่และพันธุ์ไม้หลากชนิด บางชั้นมีพืชจำพวกมอส เฟิร์น ขึ้นปกคลุมเต็มทั้งสองข้างทาง

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยา

     ชั้นหินที่สำคัญในแนวนี้ประกอบด้วย หินอัคนีพวกหินแกรนิต ยุคจูแรสสิค มีอายุประมาณ 135-180 ล้านปี

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

  • ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชัน เนื่องจากการดันตัวของเปลือกโลก ทางด้านทิศตะวันออกจะมีความลาดชันมาก แนวสันเขาวางตัวไปในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เชิงเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้มีความลาดชันน้อย มีที่ราบอยู่ทางทิศตะวันตกเพียงเล็กน้อย เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของของแม่น้ำจันทบุรี
  • น้ำ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
  • ขยะ พบเห็นขยะในเส้นทาง

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางชีวภาพ

  • พืชพรรณ ระบบนิเวศแบ่งออกได้หลักๆ 2 ประเภท คือ ป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ ยางแดง กระบาก หย่อง มะก่อ บุนนาค ลูกดิ่ง สารภี เนียนดำ มะไฟ จิกดง มะซาง ดีหมี เลือดควาย สำรอง กระบกและกรัง เป็นต้น และป่าดิบเขาซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตรขึ้นไป หรือเฉพาะบริเวณยอดเขา เช่น เขาพระบาทพลวง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ มะก่อ กระบกกรัง สารภี บุนนาค ทำมัง พิมเสนป่า พลอง  ชันใบใหญ่ รง พลับ อบเชย และดีหมี เป็นต้น
  • สัตว์ป่า สัตว์ป่ามีชุกชุม ได้แก่ ช้าง กระทิง เสือปลา หมีควาย กวางป่า เก้ง เลียงผา หมูป่า ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ อีเห็นข้างลาย พังพอนเล็ก กระต่ายป่า กระแต กระรอกหลากสี ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง นกกระทาทุ่ง ไก่ฟ้าหลังขาวจันทบูรณ์ ไก่ป่า นกกวัก นกเขาเปล้า นกกระปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกกก นกปรอดเหลืองหัวจุก นกแซงแซวหางปลา นกกางเขนดง นกกินปลีอกเหลือง เต่าเหลือง จิ้งจกหางหนาม ตุ๊แกบ้าน กิ้งก่าหัวแดง แย้ ตะกวด จิ้งเหลนบ้าน งูหลาม งูเขียวหางไหมท้องเหลือง คางคกบ้าน กบบัว ปาดบ้าน อึ่งอ่าง ฯลฯ ตามลำธารพบปลาตะเพียนทราย และปลาซิวหางแดง เป็นต้น

ประเภทการใช้ประโยชน์

     การใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและการศึกษาวิจัยในพื้นที่

สุนทรียภาพและการพัฒนาทางกายภาพ

น้ำตกกระทิง อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

น้ำตกจากเทือกเขาคิชฌกูฎ มีความสูงถึง 13 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามแบบต่างๆ กัน และมีแอ่งน้ำใสสะอาดลงเล่นน้ำได้ แต่ละชั้นมีพืชจำพวก มอส เฟิน ขึ้นปกคลุมเต็มทั้งสองข้างลำธาร เขียวชะอุ่ม ชั้นน้ำตกที่สวยงามที่สุด คือ ชั้นที่ 8 และชั้นที่ 9 ซึ่งสายน้ำไหลตกลงมาจากผาสูงชัน ส่งละอองน้ำฟุ้งกระจาย น้ำตกชั้นที่ 10 มีน้ำไหลแรงมากและไม่มีแอ่งน้ำ แต่เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มองเห็นอ่างเก็บน้ำทุ่งเพลและผืนป่าดิบชื้นที่ปกคลุมพื้นที่อย่างหนาแน่น น้ำตกกระทิง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเพียง 500 เมตร สามารถพายเรือแคนูชมธรรมชาติรอบอ่างเก็บน้ำหาดกระทิงและน้ำตกกระทิง

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

     มีการก่อสร้างทางเดินขึ้นลงน้ำตก สะพาน ที่นั่งพัก เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้มาเยือน 

     มีร้านค้าสวัสดิการ ห้องน้ำ สุขา ลานกางเต็นท์

     มีป้ายสื่อความหมายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทน้ำตก
ลักษณะทั่วไป
ผลกระทบที่พบเห็น
สิ่งอำนวยความสะดวก
อื่นๆ
- ไม่มีข้อมูล -