ระหว่างวันที่: 12 พ.ย. 2018 - 16 พ.ย. 2018

เมื่อวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2561 เจ้าหน้าที่กลุ่มจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สผ. ได้เข้าประสานงาน ติดตาม ประเมินคุณภาพแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ทสจ. เจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์ฯ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ประสาน ติดตาม ประเมินระบบนิเวศของแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ จ.มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2561 ได้แก่

1. น้ำตกตาดโตน จังหวัดมุกดาหาร

     - ลักษณะเด่น เป็นน้ำตกชั้นเดียว ความสูงประมาณ 7 เมตร มีแอ่งน้ำเล็กๆ จุดเดียวสำหรับเล่นน้ำให้กับคนในพื้นที่

     - หน่วยงานรับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนยาง จังหวัดมุกดาหาร

     - สถานภาพ แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทน้ำตก ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พฤศจิกายน 2532

     - ปัญหา/ผลกระทบ/ข้อจำกัดในพื้นที่ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำน้อยมากในฤดูแล้ง และฤดูแล้งมีปริมาณน้ำมากในช่วงสั้นๆ ทั้งนี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาพักผ่อน ได้แก่ เพิงร้านค้า จุดนั่งพัก ที่จอดรถ และมีถังขยะวางไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งยังขาดการดูแลและการบริหารจัดการที่ดี เนื่องจาก พบว่ามีขยะ หรือใบไม้ต่างๆ ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้จัดเก็บ

 

2. ภูถ้ำพระ จังหวัดยโสธร

     - ลักษณะเด่น เป็นถ้ำที่มีพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากที่ประชาชนศรัทธา และนำมาเก็บไว้ในเพิงผาถ้ำแห่งนี้ ภูถ้ำพระมีลักษณะธรณีด้านบนโดดเด่นที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝน และในฤดูฝนระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมบริเวณนี้จะงดงามมาก ด้วยมอส ไลเคน กล้วยไม้ และพืชไม้ขนาดเล็ก บนพื้นหินตลอดทั้งรูปทรงของหิน และบางจุดเป็นแนวเส้นทางที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม

     - หน่วยงานรับผิดชอบ เทศบาลตำบลกุดแห่ จังหวัดยโสธร

     - สถานภาพ แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทภูเขา ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พฤศจิกายน 2532

     - ปัญหา/ผลกระทบ/ข้อจำกัดในพื้นที่ มีวัดอยู่ในพื้นที่ภูถ้ำพระ จึงทำให้มีสิ่งก่อสร้างบริเวณซอกหินต่างๆ ซึ่งสิ่งก่อสร้างไม่กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ ขาดการดูแล และไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้ง ไม่มีการกำหนดเส้นทางเดิน ทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างหินที่อยู่บริเวณด้านบนเขา และพืชพรรณขนาดเล็ก

3. สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี

     - ลักษณะเด่น เป็นแก่งหินในลำน้ำโขง ในฤดูแล้งจะปรากฏหลุมหรือกุมภลักษณ์ (โบก ในภาษาอีสาน) ขนาดเล็กและใหญ่จำนวนมาก จนเป็นที่มาของชื่อ สามพันโบก

     - หน่วยงานรับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่างาม จังหวัดอุบลราชธานี

     - สถานภาพ แหล่งธรรมชาติของท้องถิ่น ประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา

     - ปัญหา/ผลกระทบ/ข้อจำกัดในพื้นที่ ปัจจุบันพบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ทำให้มีขยะตกค้าง บริเวณริมขอบทางเดิน ดังนั้น ควรมีการกำหนดจุดที่สำคัญและเหมาะสม ให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อพื้นที่

4. ภูกระโดง จังหวัดบุรีรัมย์

     - ลักษณะเด่น ในอดีตเคยเป็นภูเขาไฟ ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นอย่างชัดเจน

     - หน่วยงานรับผิดชอบ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขากระโดง หรือวนอุทยานภูเขาไฟกระโดง (เดิม) จังหวัดบุรีรัมย์

     - สถานภาพ แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทภูเขา ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พฤศจิกายน 2532

     - ปัญหา/ผลกระทบ/ข้อจำกัดในพื้นที่ พบว่ามีปัญหาค่อนข้างน้อย เนื่องจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขากระโดง มีแนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เช่น การจัดการพื้นที่บริการ โดยมีจุดจอดรถ ร้านค้า และห้องน้ำอย่างอย่างเหมาะสม รวมทั้ง มีการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับชุมชนรอบพื้นที่ ทั้งในส่วนของการสร้างแนวกันไฟป่า และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ตามมาตรการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

5. ภูพระอังคาร จังหวัดบุรีรัมย์

     - ลักษณะเด่น ในอดีตเคยเป็นภูเขาไฟ ตั้งโดดเด่นในบริเวณทุ่งนา มีรูปร่างกลมรี

     - หน่วยงานรับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลเจริญสุข จังหวัดบุรีรัมย์

     - สถานภาพ แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทภูเขา ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พฤศจิกายน 2532

     - ปัญหา/ผลกระทบ/ข้อจำกัดในพื้นที่ บริเวณยอดภูพระอังคารมีวัดเขาอังคารตั้งอยู่ พบว่ามีสิ่งก่อสร้างอยู่เป็นจำนวนมากที่ขาดการวางผังที่ดี และมีสภาพที่ทรุดโทรม ส่งผลให้ภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมบริเวณยอดภูไม่สวยงาม