ระหว่างวันที่: 08 มี.ค. 2021 - 12 มี.ค. 2021
การติดตามการขับเคลื่อนกรอบและแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งธรรมชาติ จังหวัดบึงกาฬ ระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2564
"บึงโขงหลง" เนื่องด้วยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนกรอบและแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2564–2568 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งได้มีการประสานเพื่อขับเคลื่อนกรอบและแนวทางฯ ไปเบื้องต้นแล้ว และเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 นางสาวกนกกาญจน์ โกติรัมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนกรอบและแนวทางฯ รับฟังแนวทางการดำเนินการและปัญหาการดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบและแนวทางฯ โดยประสานสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดบึงกาฬ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบึงกาฬ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดบึงกาฬ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง เทศบาลตำบลบึงโขงหลง เทศบาลตำบลบึงงาม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต้อง และองค์การบริหารส่วนตำบลโสกก่าม เพื่อติดตามการดำเนินงาน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่หาดคำสมบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาในการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินและการท่องเที่ยว ควรมีการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน และควรปรับรูปแบบเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อคุณภาพน้ำและระบบนิเวศ เช่น จัดระเบียบเรือท่องเที่ยวโดยการใช้เรือคายัคและเรือพาย มีการกำหนดเขตการให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน มีการติดประกาศกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดในการใช้พื้นที่ให้ชัดเจน รวมถึงมีแนวทางการขุดลอกและกำจัดจอกแหนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวควรได้รับ การรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการ เอกชน และชุมชน เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของพื้นที่ ทั้งนี้ สผ. จะได้สรุปผลการขับเคลื่อนตามกรอบและแนวทางฯ พร้อมประเด็นปัญหาต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป
การสำรวจ ติดตาม และประเมินแหล่งธรรมชาติ
“ภูทอก” เป็นภูเขาที่มีความโดดเด่นทางธรณีสัณฐานของหินทราย มีลักษณะเป็นเขาโดด เป็นหนึ่งในกลุ่มเทือกเขาภูสิงห์-ภูทอกใหญ่ มีหน้าผาสูงชันโดยรอบ ซึ่งรอบ ๆ เขาบางส่วนเว้าแหว่งเป็นไปตามธรรมชาติเป็นชั้น ๆ ประมาณ 7 ชั้น มีการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของวัดภูทอกหรือวัดเจติยาคีรีวิหาร และมีการสร้างบันไดเวียนไปตามชั้นต่าง ๆ ด้วยไม้และวัสดุธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการซ่อมแซมอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจ พบว่า บางบริเวณเริ่มมีการผุกร่อนของหิน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้มาเยือนได้
อุทยานแห่งชาติ “ภูลังกา”
เป็นภูเขาที่มีความโดดเด่นทางธรณีสัณฐานของหินทราย และลักษณะของถ้ำเป็นรูปแบบของเพิงผา สผ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา สำรวจแหล่งธรรมชาติ 3 ประเภท ได้แก่ ภูลังกา (ภูเขา) น้ำตกตาดวิมานทิพย์ (น้ำตก) และถ้ำนาคา (ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา) ซึ่งบริเวณถ้ำนาคามีการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในการขึ้นไปถ้ำนาคาไม่เกิน 350 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ควรมีการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่บริการ (ร้านค้า) ร่วมกับชุมชนให้เหมาะสมต่อไป
-
การติดตามการขับเคลื่อนกรอบและแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งธรรมชาติ จังหวัดบึง...
08/03/2021 - 12/03/2021
-
การอบรมเชิงปฏิบัติการการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการติดตามและประเมินคุณภาพ...
05/03/2020 - 06/03/2020
-
แผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม...
22/03/2019 - 23/03/2019