สถานที่ตั้ง

จังหวัด จันทบุรี อำเภอ อำเภอแหลมสิงห์ ตำบล ปากน้ำแหลมสิงห์ 22130

ประเภทสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ชายหาด

สถานภาพ

- แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (มติ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2532)

ความสำคัญ/ลักษณะของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

 หาดแหลมสิงห์ เป็นชายหาดสีน้ำตาลอมแดง ปนดินเลนเนื่องจากเป็นปากอ่าวที่แม่น้ำจันทบุรีไหลออกมา ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร   ทะเลหาดแหลมสิงห์ ไม่ค่อยเหมาะกับการเล่นน้ำ เนื่องจากหาดมีลักษณะเป็นเลน    

ชื่อหาดแหลมสิงห์ มาจากเขาแหลมสิงห์มีหินที่มีรูปร่างเหมือนสิงห์หมอบยื่นไปในทะเล พื้นที่บริเวณนี้นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้วยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัย ร.ศ.112 สมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรี ได้นำเรือรบมาปิดอ่าวจันทบุรีที่บริเวณนี้ 

เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

ตำนานความเชื่อ

     ตำนานแห่งแหลมสิงห์ ที่มาของชื่อ แหลมสิงห์ เกิดจากตำนานสิงโตคู่ที่แหลมสิงห์ ซึ่งมาจากภูเขาลูกหนึ่งชื่อ "เขาแหลมสิงห์" ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำจันทบุรี เหตุที่เรียกว่าเขาแหลมสิงห์ เพราะด้านหน้าเขามีหินเป็นแก่งเกาะยื่นล้ำออกไปในทะเล และในบรรดาก้อนหินเหล่านี้ มีอยู่ 2 ก้อนลักษณะคล้ายตัวสิงโต มีหัว มีลำตัว มีหาง มีเท้า และดวงตา มีขนาดลำตัวยาว 6 เมตร กว้าง 1.5 เมตร สูงจากพื้นน้ำทะเล 2.5 เมตร ยืนคู่กันล้ำเข้าไปในทะเล สิงโตคู่นี้เป็นที่สักการะนับถืออย่างยิ่งของชาวประมง ถึงกับมีนิทานโบราณปรัมปราเล่าว่า เมื่อก่อนนี้ไม่มีสิงโตคู่นี้ แต่กล่าวกันว่าบนเขาแหลมสิงห์ มีสิงโตจริง ๆ อยู่คู่หนึ่ง สิงโตตัวผู้ตัวเมียคู่นี้ไปไหนด้วยกันเสมอ และลงอาบน้ำ ทะเลด้วยกันทุกวัน ต่อมามีคนฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งคอยดักทำร้ายสิงโตโดยใช้วัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง จนสิงโตตัวหนึ่งถึงแก่ความตาย อีกตัวหนึ่งวิ่งหนีลงทะเลทัน และตัวที่หนีลงทะเลไปนั้น เมื่อตายในน้ำแล้วก็มากลายรูปเป็นสิงโตศิลายืนหยัดอยู่ริมทะเล ส่วนตัวที่ถูกยิงตายอยู่ที่ริมฝั่งทะเล เหลือเพียงแต่ซากหินปรักหักพังยืนข้างศิลาตัวใหญ่ พอจะจับสังเกตเป็นเค้าว่ามีแววเป็นรูปสิงโตได้บ้าง หินสิงโตนี้ใช้เป็นจุดสังเกตสำหรับเรือเดินทะเลมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว (กล่าวไว้ในจดหมายเหตุเมื่อครั้งราชวงศ์สุ่ยเดินทางออกจากกวางตุ้งไปยังเมืองซิตู้)  ต่อมามีนายทหารเรือของฝรั่งเศสทดลองความแม่นปืนด้วยการใช้ปืนเรือยิงหัวสิงห์กระเด็นตกน้ำไป ทำให้รูปสิงห์ที่เห็นอยู่นี้ขาดความสมบูรณ์แต่ดั้งเดิมไป

ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ และยังเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น   ที่มาของชื่อ หาดแหลมสิงห์ นั้น ก็มาจากเขาแหลมสิงห์ ที่มีหินรูปร่างเหมือนสิงห์หมอบยื่นออกไปในทะเล ซึ่งนอกจากที่นี่จะเป็นที่เที่ยวชื่อดังของจังหวัดจันทบุรีแล้ว ก็ยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในสมัย ร.ศ.112 อีกด้วย เพราะเป็นช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรี และนำเรือรบมาปิดอ่าวจันทบุรีที่บริเวณนี้ เลยมีการสร้างตึกแดงเอาไว้ใกล้ๆ กับหาด ที่เป็นสถานที่ไว้บัญชาการรบ

(สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2446 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้แก่ประเทศฝรั่งเศส เนื่องมาจากการตกลงทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) ซึ่งทำให้ไทยจำต้องยกดินแดนจังหวัดตราดและเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีไปจนถึงเกาะกูด และจังหวัดปัจจันตคิรีเขตร หรือ เกาะกง ให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อแลกเปลี่ยน ให้ฝรั่งเศสถอนกองทหารไปจากจันทบุรี โดยสัญญาฉบับนี้ ได้ให้สัตยาบันต่อกันและมีผลทำให้กองทหารฝรั่งเศสต้องถอนออกไปจากเมืองจันทบุรีตามสัญญา ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2447 ต่อมาได้มีการใช้พระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) คือจัดตั้งอำเภอ ตำบล กับหมู่บ้านขึ้น ที่ทำงานของรัฐบาลในอำเภอเรียกว่า "ที่ว่าการอำเภอ" ซึ่งมีผลทำให้เกาะช้าง เกาะกูด หมู่เกาะบริเวณข้างเคียง และหมู่บ้านแหลมงอบ (ฝั่งแผ่นดินใหญ่) จัดตั้งขึ้นเป็น อำเภอเกาะช้าง ในปี พ.ศ. 2447 (ร.ศ. 123) และเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอแหลมงอบ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2482)

ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

เป็นชายหาดปากอ่าวบริเวณแม่น้ำจันทบุรีไหลมาออกสู่ทะเลฝั่งอ่าวไทย บริเวณนี้มีแหลมหินที่มีหินยื่นออกไปในทะเลเป็นรูปลักษณะคล้ายสิงห์หมอบ มีทิวสนยาวไปตามแนวชายหาด และมีที่นั่งพักผ่อน พร้อมทั้งร้านค้าตั้งเรียงรายอยู่ริมชายหาด   ไม่ค่อยเหมาะกับการเล่นน้ำ เนื่องจากหาดเป็นเลน

 

 

ประเภทการใช้ประโยชน์

เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อน

สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

มีร้านค้า ร้านอาหารแก่นักท่องเที่ยว  ริมหาดแหลมสิงห์มีร้านค้าร้านอาหารหลายร้าน และเตียงผ้าใบ

ประเมินผลแหล่งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

ประเมินด้านคุณค่า : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินด้านศักยภาพ : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินด้านความเสี่ยง : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม : ยังไม่เปิดให้ประเมินประจำปี

ข้อมูลทางสถิติ
ระดับความสำคัญของแหล่งธรรมชาติประเภทชายหาด
- ไม่มีรูปภาพ -
- ไม่มีข้อมูล -